พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีวัตถุประสงค์ชัดเจนไว้ ๒ ข้อ คือ การป้องกันและการแก้ไข ซึ่งทั้ง ๒ ข้อมีหลักการสำคัญที่ระบุไว้ คือ
การป้องกัน หลักการ คือ การส่งเสริมให้วัยรุ่นได้รับการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา ได้รับข้อมูลข่าวสารที่สำคัญและได้รับบริการคุมกำเนิดที่สอดคล้องกับความต้องการ
การแก้ไข มีหลักการ ๒ ข้อคือ ๑.หลักการปฏิบัติการ แนวทางในการช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม และ ๒.การระบุถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของวัยรุ่นและการคุ้มครองสิทธิ ไม่ให้มีการละเมิด
กระทรวงที่ถูกระบุให้มีบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจนมี ๕ กระทรวง คือ
๑. กระทรวงสาธารณสุข
๒. กระทรวงศึกษาธิการ
๓. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
๔. กระทรวงมหาดไทย
๕. กระทรวงแรงงาน
เพราะทั้ง ๕ กระทรวงนี้มีขอบเขตงานที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นแทบจะทุกกลุ่มในประเทศ
แล้ววัยรุ่นที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้พูดถึง คืออายุเท่าไรล่ะ??
มาตรา ๓ ใน พ.ร.บ.นี้ ระบุว่า
“วัยรุ่น” หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงยี่สิบปีบริบูรณ์
ใครก็ตามที่อายุ ๑๐ ปี ๑ วันจนถึง อายุ ๑๙ ปี ๓๖๔ วัน เป็นผู้ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.นี้
“นักเรียน” หมายความว่า วัยรุ่นซึ่งกําลังรับการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา หรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน
“นักศึกษา” หมายความว่า วัยรุ่นซึ่งกําลังรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษา ของรัฐหรือเอกชน
“สถานศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ครอบคลุมนักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในทุกสังกัด ไม่ว่าสถานศึกษานั้นจะอยู่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มหาดไทย วัฒนธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ไม่มีข้อยกเว้น
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ หมวด ๑ มาตรา ๕ ซึ่งระบุไว้ว่า
วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัด สวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับสิทธิอื่นใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ตามพระราชบัญญัตินี้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ
แปลความง่ายๆ ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้สิทธิวัยรุ่นอยู่ ๖ เรื่องใหญ่ ๆ คือ
๑. มีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง
๒. มีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้
๓. มีสิทธิที่จะได้รับบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์
๔. มีสิทธิได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว
๕. มีสิทธิได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
๖. สิทธิอื่นๆ ตามที่ พ.ร.บ.นี้ระบุไว้
มาตรา ๕ จึงเป็นมาตราสำคัญที่เป็นหัวใจของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ส่วนมาตราอื่นๆ ก็จะระบุแนวทางการดำเนินงานของแต่ละกระทรวง ซึ่งการดำเนินงานต้องอยู่ภายใต้หลักการของมาตรา ๕ ที่ได้รับรองสิทธิของวัยรุ่นไว้
ที่ผ่านมา การ ”จัดการ” ของผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งที่ได้กระทำต่อวัยรุ่นที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม เต็มไปด้วย “อคติ” แนวทางจึงออกแนว “ซ้ำเติม” มากกว่าที่จะช่วยเหลือวัยรุ่นที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม ที่กำลังเผชิญภาวะที่ยากลำบาก
ตอนต่อไปจะพูดถึงสิทธิของวัยรุ่นที่ต้องได้รับจากแนวทางการปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันว่า “ช่วยเหลือและซ้ำเติม” มันแตกต่างกัน!
ที่มา http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20161207115138.pdf
*** ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองบรรณาธิการ ***