ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

ทำแท้งภายใต้เงื่อนไขกฎหมาย

By nuttynui 3 ส.ค 2562 21:05:45
 
หนุ่มเมืองราด

          คำถามที่ผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมมักจะถาม สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ว่า ถ้าทำแท้งได้ไหม ผิดกฎหมายไหม? ทำที่ไหนถึงจะปลอดภัยและไม่เสี่ยงต่อการถูกจับ?

          การทำแท้งถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม  จริงอยู่ว่า ประเทศไทยกำหนดว่าการทำแท้งผิดกฎหมายตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 301 , 302 , 303 แต่ก็มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ที่ระบุไว้ว่า

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรา 301 และ มาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์และ
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ใน 
มาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือ มาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด

          ขยายความพอสังเขปว่า  มาตรา 301 เป็นความผิดของผู้หญิงที่ทำแท้งด้วยตนเองหรืออนุญาตให้คนอื่นทำแท้งให้ ขณะที่ มาตรา 302 เป็นความผิดในกรณีที่ใครก็ตามทำแท้งให้ผู้หญิง โดยผู้หญิงยินยอม แต่เมื่อมาถึงมาตรา 305 มีการอนุญาตให้ทำแท้งได้ คือ (1) จำเป็นเนื่องจากสุขภาพของผู้หญิง  ส่วน (2) เป็นหมวดเกี่ยวกับกระทำความผิดทางเพศ เช่น ผู้หญิงถูกล่อลวง ข่มขืน เป็นต้น กฎหมายก็อนุญาต แต่ที่สังคมไม่ค่อยจะรู้ก็คือ มาตรา 277 ซึ่งระบุไว้ว่า

          ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

          หมายความว่า ถ้าเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ในทุกกรณี ไม่ว่าการมีเพศสัมพันธ์ในครั้งนั้นจะเป็นการยินยอมหรือไม่ก็ตาม

     สรุปง่ายๆ ดังนี้คือ ประเทศไทยมีกฎหมายที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ในกรณีดังต่อไปนี้
  1. ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี
  2. การตั้งครรภ์ในครั้งนั้น ถูกบังคับ ล่อลวง ข่มขืน ตามที่กฎหมายระบุ
  3. จำเป็นเพราะสุขภาพของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์
          มีคำถามต่อว่า จำเป็นเพราะสุขภาพของผู้หญิง หลายคนคงสงสัยว่า  สุขภาพคืออะไร? แค่ไหน? อย่างไร?

          เพื่อความชัดเจน จึงต้องมาพิจารณาข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วย หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 ซึ่งจะขอนำสาระสำคัญที่อธิบายในเรื่องสุขภาพของผู้หญิง ในข้อที่ 3 – 5 ของข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์ปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ คือ

          ข้อ 3 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น จะกระทําได้ เมื่อหญิงตั้งครรภ์นั้นยินยอม

          ข้อ 4 แพทย์ผู้กระทําการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย

          ข้อ 5 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

          (1) เป็นกรณีที่จําเป็นต้องกระทํา เนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือ (2) เป็นกรณีที่จําเป็นต้องกระทํา เนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะต้องได้รับการ รับรอง หรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่มิใช่ผู้กระทําการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่ง คน ซึ่งผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์นี้

          (2) ในกรณีที่หญิงนั้นมีความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง เป็นหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง เมื่อหญิงนั้นได้รับการตรวจวินิจฉัยและการปรึกษาแนะนําทางพันธุศาสตร์ (Genetic counseling) และมีการลงนาม รับรองในเรื่องดังกล่าวข้างต้นโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่มิใช่ผู้กระทําการยุติการตั้งครรภ์อย่าง น้อยหนึ่งคน ให้ถือว่าหญิงตั้งครรภ์นั้นมีปัญหาสุขภาพจิตตาม  (2) ทั้งนี้ ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าหญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิต และต้องมีการบันทึกการตรวจและวินิจฉัยโรคไว้ในเวชระเบียนเพื่อเป็นหลักฐาน

          ด้วยความเชื่อว่า ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเป็นเจ้าของปัญหา และเป็นคนที่ตัดสินใจเลือกทางแก้ไขปัญหาของชีวิต การมีทางเลือกย่อมดีกว่าไม่มีทางเลือก และต้องมีทางเลือกที่มากและปลอดภัยพอที่จะให้ชีวิตได้เลือกก้าวต่อไป สายด่วน 1663 จึงร่วมมือกับกรมอนามัย และเครือข่าย R-SA พัฒนาเครือข่ายที่รับยุติการตั้งครรภ์ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 305 และประกาศข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยข้อปฏิบัติเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ เพื่อเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยให้สำหรับผู้หญิงที่เลือกยุติการตั้งครรภ์

           อนึ่ง จำนวนผู้มารับบริการสายด่วน 1663 ในเรื่องท้องไม่พร้อมพบว่า ผู้มารับบริการอายุต่ำกว่า 20 ปี อยู่ระหว่าง 27 – 30% ของคนที่มารับคำปรึกษา ดังนั้น จึงมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559  โดยเน้นผู้ที่อายุระหว่าง 10 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 20 ปี

          กฎกระทรวงที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขออกมาเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ในหมวดที่ 2 การให้คำปรึกษา ข้อที่ 8 (5) การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และในหมวดที่ 3 การให้บริการอนามัยเจริญพันธุ์ ข้อ 11 (6) การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

          สรุปง่ายๆ ว่า สถานบริการของรัฐจะต้องจัดบริการให้คำปรึกษาเรื่องการยุติการตั้งครรภ์และให้บริการยุติการตั้งครรภ์ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือต้องส่งต่อในกรณีถ้าสถานบริการของรัฐนั้นไม่สามารถให้บริการได้  และในขณะเดียวกัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้ขานรับนโยบายว่า การทำแท้งเป็นทางเลือกของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยให้สิทธิกับผู้หญิงไทยทุกคนที่ท้องไม่พร้อมสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

          ในหมวดที่ 3 ข้อที่ 12  ระบุด้วยว่า ผู้รับบริการซึ่งเป็นวัยรุ่นอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเองในการรับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ดังนั้น การรับบริการยุติการตั้งครรภ์ ถ้าอายุ 15 ปีขึ้นไป ก็สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง  สนใจอ่านต่อที่http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/011/T_0004.PDF

          ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ เพื่อจะบอกผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมว่า “ทางเลือก” แตกต่างกับ “การเสี่ยง”  การก้าวผ่านทางเลือกเพื่อก้าวผ่านปัญหาท้องไม่พร้อม ไม่ควรเป็นทางเสี่ยงที่จะไปสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา เรามีสิทธิเลือก และที่สำคัญเรามีสิทธิปลอดภัยในทางเลือกนั้นด้วย


 
-->