“สวัสดีค่ะ สายด่วน ๑๖๖๓ โต๊ะ ๑๒ ยินดีให้บริการปรึกษาค่ะ”
“ทางเราเป็นครู อยู่ที่อีสาน พอดีนักเรียนที่โรงเรียนท้อง ทางผู้บริหารโรงเรียนทราบข่าว จะให้นักเรียนออก คือเราก็เป็นครู สงสารเด็ก อยากให้เด็กได้เรียนต่อค่ะ พอจะทำอย่างไรได้บ้างคะ?”
“คุณครูอยากจะทำอะไรบ้างคะ..”
“คือ..ยังไม่รู้เหมือนกัน ตอนนี้คิดอย่างเดียวว่า จะมีช่องทางอะไรบ้างที่ทำให้เด็กได้เรียนต่อ...”
ตลอดเวลาที่ผ่านมา สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ๑๖๖๓ พบคุณครูจำนวนหนึ่ง ที่มีความเมตตาต่อเด็กนักเรียน เมื่อรู้ว่านักเรียนพลาดในชีวิต และกำลังถูกซ้ำเติมจากผู้บริหารสถานศึกษาที่รักในชื่อเสียงสถาบัน และหน้าตาของตนเองมากกว่าชีวิตเด็กที่ก้าวพลาด
สารพัดข้ออ้างและหลากหลายวิธีการที่ปฏิบัติต่อนักเรียนและครอบครัว จนเด็กจำนวนมากจำใจต้องออกจากสถานศึกษา พร้อมกับอนาคตที่ริบหรี่ลง กับหนึ่งชีวิตที่จะเกิดขึ้นมา และบ่อยครั้งที่คุณครูต้องพ่ายแพ้ต่ออคติของผู้บริหาร
ทั้งๆ ที่นักเรียนที่ท้องในวัยเรียน ควรจะได้รับการส่งเสริมโอกาส สนับสนุนการศึกษา เพื่อจะได้เป็นแม่ที่มีความสามารถในการดูแลอีกหนึ่งชีวิตที่เติบโตอย่างมั่นคง
“ตั้งแต่หนูถูกให้ออกจากโรงเรียน หนูเหมือนอยู่ตัวคนเดียว เพื่อนๆ ก็ค่อยๆ หายไป ตอนนี้หนูเป็นลูกจ้างขายเฟอร์นิเจอร์ หนูยังอยากเรียนอยู่...”
เสียงของน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟัง หลังจากประตูสถานศึกษาปิดลง ทิ้งเธอไว้ข้างนอกอย่างไม่แยแสว่า ชีวิตวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร!
มาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ๒๕๕๙ ระบุไว้ว่า
ให้สถานศึกษาดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนหรือนักศึกษา
(๒) จัดหาและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาและให้คําปรึกษาในเรื่องการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่นักเรียนหรือนักศึกษา
(๓) จัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งตั้งครรภ์ ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม
ชัดเจนว่า ถ้ามีนักเรียนท้องและต้องการตั้งท้องต่อ สถานศึกษามีหน้าที่จัดระบบดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองให้นักเรียนได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง
ไม่สามารถให้นักเรียนออกได้!
แล้วให้ย้ายสถานศึกษาได้ไหม? หลายโรงเรียนผลักภาระให้เด็กไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) บ้าง หรือย้ายไปโรงเรียนอื่นๆ บ้าง
ต้องย้อนกลับไปดูมาตรา ๕ ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้
มาตรา ๕ วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัดสวัสดิการสังคม อย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับสิทธิอื่นใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตาม พ.ร.บ.นี้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ
ระบุว่าวัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง ได้รับการบริการ การรักษาความลับ ความเป็นส่วนตัว การจัดสวัสดิการอย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ถ้านักเรียนและวัยรุ่นประสงค์จะเรียนต่อที่เดิม ก็ย่อมทำได้ โรงเรียนมีหน้าที่จัดรูปแบบการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องให้กับนักเรียน
เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า
นักเรียนที่ท้องในวัยเรียน สมควรได้รับโอกาส ไม่ใช่การซ้ำเติม!!
ที่มา http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20161207115138.pdf
*** ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองบรรณาธิการ ***