ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

วันวัณโรคโลก ภาคประชาชนขวางบริษัทยายื่นขอสิทธิบัตรรักษาเชื้อดื้อยา ชี้ขัดกฎหมาย เพราะเป็นการรักษา กรมทรัพย์สินฯ ต้องไม่คุ้มครอง

By nuttynui 25 มี.ค 2563 14:31:09
จากกรณีที่ประเทศไทยติดอันดับในกลุ่ม 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง  มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย จึงยื่นข้อมูลต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ยกคำขอสิทธิบัตรเลขที่ 0501002434 ที่ยื่นขอโดยบริษัทแจนซ์เซ่น ฟาร์มาซูติการ์ เอ็น.วี. ซึ่งเป็นยารักษาวัณโรคดื้อยา มีชื่อสามัญทางยาว่า เบดา ควิไลน์ (Bedaquiline)  เหตุเพราะขอเป็นการรักษา ซึ่งขัดต่อกฎหมาย

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคสูง และเป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับต้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี การรักษาวัณโรคต้องใช้ยา 4 ชนิดและต้องรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 6-12 เดือน การกินยาเป็นเวลานานและความไม่เข้าใจความสำคัญของการกินยาต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ป่วยวัณโรคที่มีเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งการรักษาวัณโรคดื้อยาจำเป็นต้องได้รับยาที่เหมาะสม แต่ปัจจุบันพบว่า ยาที่ใช้รักษาวัณโรคดื้อยายังมีราคาแพง และจะยิ่งแพงมากขึ้น เพราะยาตัวนี้กำลังอยู่ในกระบวนการขอจดสิทธิบัตร ซึ่งตามระบบจะคุ้มครองตั้งแต่วันที่ยื่นขอสิทธิแล้ว หรือเรียกว่า ได้สิทธิผูกขาดไปตั้งแต่วันที่ยื่นขอสิทธิบัตรแล้ว

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า คำขอสิทธิบัตรยาดังกล่าว บริษัทได้ยื่นขอสิทธิตั้งแต่ปี 2548 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่น่ากังขาว่า การอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขอสิทธิบัตรแต่ละฉบับนั้น มีกรอบและเส้นแบ่งในการให้โอกาสแก้ไขกับผู้ขออย่างไร  คำนึงถึงความเป็นธรรมให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยามากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างของสิทธิบัตรยาวัณโรคดื้อยาตัวนี้ มีรายละเอียดที่น่าสงสัยคือ ขอแก้ไขในสาระสำคัญหลายครั้งจากเดิมที่มีข้อถือสิทธิเพียง 31 ข้อ พบว่ามีข้อถือสิทธิเพิ่มเข้ามาเป็น 51 ข้อ แต่คำขอล่าสุด กลับมีข้อถือสิทธิเหลือ 41 ข้อ ซึ่งภาคประชาชนมองว่ากระบวนการเปิดให้แก้ไขที่กรมฯ อนุมัตินั้นเป็นการแก้ไขโดยมิชอบ เพราะแก้ในสาระสำคัญของสิทธิบัตร และยังมีความสับสนในการแก้ไขด้วย กรณีนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการที่สับสนดังกล่าว

“เราพบว่าคำขอสิทธิบัตรยาตัวนี้ขัดต่อมาตรา 9 (4) ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร คือการขอสิทธิบัตรเพื่อการวินิจฉัย บำบัด หรือเพื่อรักษาโรค จะไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.นี้ และคำขอนี้เป็นการขอเพื่อการรักษา สมควรที่จะต้องถูกยกคำขอไปตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ควรปล่อยเวลาให้คำขอนี้ค้างคาและผูกขาดในตลาดมานานเกิน 10 ปี” นายนิมิตร์กล่าว

ทั้งนี้ การยื่นข้อมูลเพิ่มเติมของภาคประชาชน นอกจากจะยื่นข้อมูลเพื่อยืนยันว่า สิทธิบัตรยาดังกล่าวไม่สมควรจะได้รับสิทธิแล้ว ยังเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งดำเนินการพิจารณาเพื่อยกคำขอยาดังกล่าว ปลดแอกการผูกขาด ทำให้ยาตัวนี้มีราคาถูกลง ให้ประเทศสามารถนำยานี้มาใช้เพื่อการรักษาวัณโรคดื้อยาอย่างเร่งด่วนได้

 
-->