ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

คนรักหลักประกันสุขภาพ ค้านประยุทธ์แก้กฎหมายบัตรทอง

By nuttynui 22 พ.ค 2561 18:40:26
6 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวประชาไทย
เครือข่ายจากทั่วประเทศรวมกันนับพันคนหน้าตึก UN ค้านแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้ กฎหมายใหม่ลดบทบาทภาคประชาชน กระบวนการไม่โปร่งใสตั้งแต่ต้น ให้อำนาจผู้ให้บริการ กระทรวงสาธารณสุขมากกว่าผู้ใช้บริการ 49 ล้านคน ส่วนร่วมภาคประชาชนน้อยลง เวทีรับฟังความเห็นเข้าถึงยาก จัดแค่ 4 จังหวัด แต่ข้าราชการเข้าร่วมฟรี จวกนายกฯ ต้องแก้สาระกฎหมายอย่าพูดอย่างเดียว

6 มิ.ย. 2560 เวลา 8.00 น.  รายงานข่าวแจ้งว่า เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกว่า 1,000 คนชุมนุมหน้าอาคารสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุติกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันแห่งชาติ แล้ว "เซ็ตซีโร่" เริ่มต้นกระบวนการใหม่โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนมากกว่าเดิม

การชุมนุมมีขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ… ที่มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับแก้ไขแล้วเสร็จ และเริ่มกระบวนการประชาพิจารณ์ระหว่างวันที่ 2-21 มิ.ย. 2560 นี้ พร้อมกับเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้หยุดการทำประชาพิจารณ์แล้วเริ่มกระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่ตั้งแต่ต้น เนื่องจากกระบวนการปรับแก้กฎหมายในครั้งนี้ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน

ทั้งนี้ เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้เตรียมส่งตัวแทนจำนวน 10 คน ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 10.00 น. อย่างไรก็ดี พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้เจรจากับนิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ให้รีบยุติการชุมนุมและให้งดการใช้เครื่องขยายเสียง ดังนั้น ทางผู้ชุมนุมจึงเลื่อนเวลาเข้ายื่นหนังสือขึ้นมาเป็นเวลา 09.30 น. พร้อมทั้งแถลงเหตุผลในการออกมาชุมนุมเรียกร้องในครั้งนี้

ก.ม. ใหม่ลดบทบาทภาคประชาชน กระบวนการไม่โปร่งใสตั้งแต่ต้น
มีนา ทองรศ ตัวแทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน กล่าวว่า การมาวันนี้ก็มีความเกรงกลัวอยู่ลึกๆ เพราะไม่ได้มาเรียกร้องภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย แต่จะกลัวมากกว่านั้นถ้า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติถูกแก้ไข ซึ่งล่าสุดได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…แล้วและเตรียมทำประชาพิจารณ์ แต่กระบวนการแก้ไขกฎหมายไม่มีความโปร่งใส ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีการมีส่วนร่วมจากประชาชน จึงขอคัดค้านกระบวนการนี้

"ก่อนจะมาที่นี่ก็มีตำรวจ ทหารไปที่บ้านของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในหลายจุดในภาคอีสาน โดยอาจจะมองว่าเป็นเสื้อแดง แต่จริงๆ อยากบอกว่าเราคือคนๆ หนึ่งที่รักหลักประกันสุขภาพ เราต่อสู้เพื่อให้รัฐจัดสวัสดิการการรักษาและการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นสิทธิ ไม่ใช่เรื่องของการสงเคราะห์ เราต้องการให้ระบบนี้ยังคงอยู่ นายกฯ บอกว่าไม่ล้มระบบหลักประกันสุขภาพแน่ แต่ไม่มีข้อมูลวิชาการเลยในการแก้ไขกฎหมายและโครงสร้างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ" มีนา กล่าว

มีนา กล่าวอีกว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเป็นหัวใจขององค์กร เป็นผู้ตัดสินใจนโยบายและนำไปสู่การจัดซื้อบริการ แต่การแก้กฎหมายครั้งนี้กลับเพิ่มสัดส่วนกรรมการที่มาจากฝั่งผู้ให้บริการ ทำให้มีโอกาสตัดสินใจมากกว่า เท่ากับย้อนกลับไปแบบเดิมคือผู้ให้บริการเป็นหลัก ไม่ได้ฟังเสียงของผู้รับบริการ ไม่ได้มองประชาชนว่ามีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพแต่มองว่าเป็นคนเจ็บป่วยที่รับการรักษาเท่านั้น ดังนั้นขอให้ยกเลิกการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และขอให้หยุดเวทีประชาพิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม หยุดทุกอย่างที่เป็นการเสแสร้งหลอกลวง

สุชิน เอี่ยมอินทร์ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายครั้งนี้ เจ้ากระทรวงที่รับผิดชอบด้านนี้ไม่เคยเอากระแสพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ว่าเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาใส่เกล้าเลย ถ้ากระทรวงเข้าถึงปัญหา เข้าใจปัญหาและนำมาพัฒนา เชื่อว่าก็คงไม่เกิดเหตุการณ์ในวันนี้ ดังนั้นขอเรียกร้องให้หยุดการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เช่นนั้นพี่น้องเครือข่ายจะออกมามากกว่านี้ ถึงช่วงนี้อยู่ในภาวะไม่ปกติก็จะออกมา ดีกว่ารอวันตายที่บ้านอย่างทรมาน

ก.ม. ใหม่ยกอำนาจให้ผู้ให้บริการเยอะกว่าประชาชน 49 ล้านคน

อภิวัฒน์ กวางแก้ว ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี กล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะส่งสัญญาณว่าไม่มีการยกเลิกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่การแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ระบบอ่อนแอและล้มลง

"เนื้อหาสาระที่แก้ไขมีหลายประเด็นที่น่ากังวล เช่น โครงสร้างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพมี 30 คน แต่ให้ตัวแทนภาคประชาชนซึ่งเป็นตัวแทนคน 49 ล้านคนเพียง 2 คน แล้วกฎหมายจะบิดเบี้ยวไปขนาดไหน นอกจากนี้ เนื้อหาอื่นๆ ที่มีการแก้ไขก็สุ่มเสี่ยงมากที่จะไม่เป็นหลักประกันให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะการอธิบายว่ากระทรวงสาธารณสุขมีฐานะเป็นผู้จัดบริการให้ประชาชนทุกคน ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) มีหน้าที่ซื้อบริการแทนประชาชน 49 ล้านคน เพราะฉะนั้นผู้ซื้อบริการและผู้จัดบริการต้องแยกบทบาทให้ชัดเจน แล้วเหตุใดเมื่อแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพจึงขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน"  ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี กล่าว

สุภัทรา นาคะผิว กล่าวว่า ในนามของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรียุติกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น และขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายชุดใหม่ที่มีความสมดุลขององค์ประกอบ มีภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างสมดุลและเป็นสัดส่วนที่มีความหมายอย่างแท้จริง และอยากเรียกร้องว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นนี้ ไม่มีความหมายอะไรเลยเพราะกระบวนการไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น จึงควรยุติกระบวนการทั้งหมดแล้วเริ่มต้นใหม่

เตือนใจ สมานมิตร ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ภาคกลาง กล่าวว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้เห็นชัดว่าพยายามแก้กฎหมายเพื่อที่จะจำกัดช่องทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น การไม่เปิดโอกาสให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรรับงบประมาณจากกองทุนในการร่วมจัดบริการ แต่กลับแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้หน่วยบริการ จากที่เคยถูกคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) บอกว่าจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟไม่ได้ ซึ่งจริงๆ โรงพยาบาลก็ต้องใช้จ่ายได้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ

เตือนใจ กล่าวอีกว่า ในขณะที่การแก้กฎหมายเอื้อให้โรงพยาบาลดำเนินการได้กลับไปตัดโอกาสภาคประชาชน โดยให้หน่วยบริการพิจารณา หากประเมินว่าจัดบริการบางอย่างไม่ได้ก็สามารถให้ภาคประชาชน หรือองค์กรสาธารณประโยชน์มารับงบจากหน่วยบริการไปดำเนินงานแทน ซึ่งเห็นชัดเจนแล้วว่าไม่มีความจริงใจที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้บริการ

“สิ่งที่รับไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือกระบวนการแก้กฎหมายไม่มีธรรมาภิบาล เพราะคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่มีทั้งหมด 26 คน แต่มีตัวแทนภาคประชาชนแค่ 2 คน แม้จะมีการทักท้วงเพื่อขอเพิ่มจำนวนให้เหมาะสมระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการแต่ก็ไม่เป็นผล เนื้อหาที่ออกมาจึงเอื้อประโยชน์ให้กระทรวงสาธารณสุข แต่ภาคส่วนอื่นๆ กลับถูกลดบทบาทลง” เตือนใจกล่าว

ด้านนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า หลักการถ่วงดุลอำนาจด้วยการแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการ หรือกระทรวงสาธารณสุข และผู้ซื้อบริการให้ประชาชน หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นการจัดระบบบริการที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบได้ แต่การแก้กฎหมายกลับไปเพิ่มอำนาจผู้ให้บริการ ด้วยการเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการและผู้ประกอบวิชาชีพในกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพียงฝั่งเดียว ในขณะที่ภาคประชาชนมีจำนวนเท่าเดิม ส่วนตัวแทนท้องถิ่นถูกลดจำนวนลง โดยไม่มีเหตุผลอธิบายว่าการเพิ่มจำนวนคณะกรรมการจะช่วยให้ระบบมีความก้าวหน้าอย่างไร

เวทีรับฟังความเห็นเข้าถึงยาก จัดแค่ 4 จังหวัด แต่ข้าราชการเข้าร่วมฟรี จวกนายกฯ ต้องแก้สาระกฎหมายอย่าพูดอย่างเดียว
ปฏิวัติ เฉลิมชาติ ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมาย ต้องลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ง่ายที่ประชาชนจะได้เข้าร่วม อีกทั้งการจัดเวทียังทำเพียง 4 ครั้ง คือที่เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ และสงขลาเท่านั้น ประชาชนคนใดต้องการมาร่วมต้องหาเงินค่ารถเดินทางมาเอง แต่ผู้ให้บริการที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กลับสามารถมาร่วมโดยเบิกจากต้นสังกัดได้
“ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นด้วยว่ากฎหมายที่มีอายุกว่า 15 ปีควรได้รับการแก้ไข ปรับปรุง เพื่อลดช่องว่างที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของทุกฝ่าย แต่การแก้ไขต้องคุ้มครองให้ประชาชนได้รับสิทธิบริการสาธารณสุขอย่างมีมาตรฐานและต้องไม่ทำลายหัวใจของการมีระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เห็นชัดว่าไม่ได้เป็นประโยชน์กับระบบ จึงอยากเรียกร้องให้นายกฯ ยุติกระบวนการพิจารณาแก้กฎหมายแล้วเริ่มต้นกระบวนการใหม่ เพื่อให้กฎหมายเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม และเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังคงยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ นายกฯ จะได้ไม่ต้องไปตบปากใครที่จะจ้องล้มระบบเหมือนที่เคยเป็นข่าว” ปฏิวัติ กล่าว

อภิวัฒน์ กล่าวย้ำว่า นายกรัฐมนตรีต้องฟังประชาชนอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่ใช่บอกว่าไม่เลิกๆ แต่เนื้อหาสาระที่มีการแก้ไขในแต่ละมาตรา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น

“ท่าน [พล.อ. ประยุทธ์] บอกว่าต้องมีเวทีรับฟัง 4 ภาค ประชาชน 49 ล้านคน ท่านให้ฟังเพียงภาคละ 300 ท่าน ลงทะเบียนออนไลน์ พวกเราเองก็ต้องบอกว่า ไม่มีสิทธิ์เลย ถูกปิดปาก ปิดทุกสิ่งอย่างไม่ให้ออกมาสื่อสาร และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนไม่รู้เรื่องนะครับ ประชาชนอย่างพวกเรารู้เรื่อง อ่านกฎหมาย ต้องบอกว่า พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่ประชาชน 49 ล้านคนยังมีอยู่ พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านต้องเงี่ยหูมาฟังประชาชนอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่ใช่มาบอกว่าไม่ต้อง ไม่เลิก ท่านท่องได้ครับ แต่เนื้อหาสาระของกฎหมายในแต่ละมาตรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น” อภิวัฒน์ กล่าว

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 
iLaw รายงานข้อมูลจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพในประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับการแก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3 ประการ ดังนี้
1. การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ไม่มีความเป็นธรรม อ้างอิงจากคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้กฎหมายบัตรทองเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ปรากฎว่ามีคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย 26 คน แต่มีภาคประชาชนเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวเพียง 2 คน และแม้จะมีการเสนอให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการฯ เพื่อความสมดุลแล้ว แต่ก็ไม่ผ่านการพิจารณา

2. เนื้อหาของการแก้ไข พ.ร.บ. ขัดกับหลักการของระบบบัตรทองเดิม การแก้ไขกฎหมายโดยเสนอให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการในฝั่งผู้ให้บริการและผู้ประกอบวิชาชีพในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข แต่ตัวแทนภาคประชาชนยังคงมีจำนวนเท่าเดิม และตัวแทนจากท้องถิ่นกลับถูดลดจำนวนลง การแก้ไขดังกล่าวขัดกับหลักการเดิมของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจด้วยการแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการ (กระทรวงสาธารณสุข) และผู้ซื้อบริการให้ประชาชน (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เพื่อให้การจัดระบบบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้จริง
นอกจากนี้ ยังแก้ไขบทบาทขององค์กรประชาชนที่ไม่แสวงหากำไรให้ทำได้แค่เรื่องส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเท่านั้น ส่วนการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนได้เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพนั้นทำไม่ได้ ทั้งยังกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนหรือองค์กรชุมชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ของบได้จากกองทุนหลักประกันสุขภาพพื้นที่หรือหน่วยให้บริการไม่สามารถขอจากบอร์ด สปสช. ได้โดยตรง ซึ่งทั้งหมดนี้ขัดกับหลักระบบสุขภาพเป็นของทุกคน ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบได้

3. รูปแบบการมีส่วนร่วมต่อร่างกฎหมายไม่มีความเหมาะสม ปแบบการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจาก ต้องมีการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์เท่านั้นจึงจะให้ความเห็นได้ นอกจากนี้ มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพียงแค่ 4 ครั้ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และสงขลา โดยคนที่สนใจร่วมเวทีต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาให้ความเห็น ขณะที่การเดินทางของข้าราชการเปิดโอกาสให้สามารถเบิกได้
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า ประเด็นสำคัญที่อยู่ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 ซึ่งสมควรจะได้รับการแก้ไข กลับไม่ได้อยู่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เลย ได้แก่

1. การไม่ยอมยกเลิก 'การร่วมจ่าย' ที่ทำให้การรักษาพยาบาลไม่ได้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึ่งได้รับจากรัฐ และกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงการรักษาที่เท่าเทียม

2. การ 'ไม่ขยายสิทธิ' ให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคลและกลุ่มคนที่ตกสำรวจ ทั้งที่เป็นคนไทยเหมือนกันเพียงแต่ยังไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก

3. กฎหมายที่มีอยู่ไม่อำนวยความสะดวกให้ สปสช. มีอำนาจในการจัดซื้อยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น ยากแก้พิษ เซรุ่ม ยากำพร้า ยารักษาโรคเรื้อรัง เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าหากป่วยด้วยโรคใดก็ตามจะได้รับการรักษา ตามหลักการของกฎหมายที่ว่า "ประชาชนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีมาตรฐาน"
 
-->