ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เรียกร้องรัฐเร่งให้ประชาชนได้ตรวจและรักษาไวรัสตับอักเสบซีอย่างทั่วถึง

By nuttynui 26 ก.ค 2561 12:04:15

     เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แถลงข้อเรียกร้องเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซี  เนื่องในวันที่ 28 กรกฎาคม วันตับอักเสบโลก
 

     ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและภาคียื่นจดหมายต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing-CL) ยาโซฟอสบูเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาไวรัสตับอักเสบซี  ปัจจุบัน มีความคืบหน้าการเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซีหลายด้าน  ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในด้านการรักษา  ยาโซฟอสบูเวียร์ และยารวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์/เลดิพาสเวียร์  ได้บรรจุในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ในปีงบประมาณ 2561 เพื่อรักษาไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์ 1, 2, 4, 6 โดยไม่ต้องใช้ยาฉีดแบบเดิม ส่วนสายพันธุ์ 3 ยังต้องใช้ยาโซฟอสบูเวียร์ร่วมกับยาฉีด ซึ่งมีผลข้างเคียงสูง  และยังกำหนดเกณฑ์การรักษาให้การรักษาเฉพาะผู้ที่ถึงเกณฑ์  ขณะที่ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทุกคนควรจะต้องได้รับการรักษา
 

     ด้านการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ส่งเสริมให้ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ได้รับการตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะถ้ารับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีด้วย มีอัตราการเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับเร็วขึ้น  และผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด
 

     ในปีนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์  มีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพร้อมมีส่วนร่วมในการทำงาน เพื่อให้ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับการตรวจคัดกรองและผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังได้รับการรักษาถ้วนหน้า ดังต่อไปนี้

  1. สปสช. พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีที่รักษาทุกสายพันธุ์ เช่น Velpatasvir, Ravidasvir หรืออื่นๆ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงต่ำ
  2. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม ต้องเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมให้บริษัทยาชื่อสามัญมาขึ้นทะเบียนยาในประเทศให้หลากหลาย ไม่ถูกผูกขาดเพียงบริษัทยาชื่อสามัญไม่กี่บริษัท เพื่อให้ประเทศมีทางเลือก มีอำนาจต่อรองราคายา และสามารถบริหารจัดการงบประมาณให้จัดซื้อยารักษาได้ทั่วถึงทุกคน ซึ่งกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ประมาณ 300,000 – 700,000 ราย 
  3. สปสช. และคณะอนุกรรมการจัดซื้อยา ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ต้องเพิ่มการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและติดตามการรักษาไวรัสตับอักเสบซี เช่น การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี, การตรวจหาจำนวนไวรัสตับอักเสบซี การตรวจหาสายพันธุ์ การตรวจสภาพความยืดหยุ่นในตับ ให้อยู่ในการจัดซื้อยารวม เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างสมเหตุผลและทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบ สามารถให้บริการตรวจวินิจฉัยที่ทั่วถึงมากขึ้น  และควรมีการทบทวนเพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อยาให้รวดเร็วขึ้น   เช่น กรณียารักษาไวรัสตับอักเสบซี กว่าที่ยาจะเข้าระบบเบิกจ่ายได้ ก็ล่วงเลยถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2561  ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ต้องเสียโอกาสการรักษาไปเกือบ 1 ปี 
  4. สำนักงานประกันสังคม ซึ่งยังเป็นระบบเดียวที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่ารักษาผ่านการส่งเงินเข้าประกันสังคมทุกเดือน ต้องเร่งรัดนำยาเข้าระบบให้หน่วยบริการจัดการรักษาให้กับผู้ประกันตนได้โดยด่วน และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนทราบถึงสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาไวรัสตับอักเสบซีด้วยยาโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ เพื่อให้ได้เข้าถึงการรักษาที่เท่าเทียมกับบัตรทอง
     เครือข่ายฯ ขอเชิญชวนให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเข้าไปปรึกษาที่โรงพยาบาลเรื่องการตรวจคัดกรอง หากตรวจพบว่าติดเชื้อจะได้เริ่มเข้ากระบวนการรักษาให้หายขาดได้
-->