วันที่ 8 สิงหาคม สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 แถลงข่าว “หญิงท้องไม่พร้อมถูกปฏิเสธยุติการตั้งครรภ์ แม้อยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายที่ทำได้” ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์แฟนเพจ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จากการให้บริการปรึกษาของสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ในรอบปีที่ผ่านมา (1 ส.ค.60 - 31 ก.ค.61) พบว่ามีผู้รับบริการ 28 รายที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้ข้อกฎหมายและเกณฑ์ทางการแพทย์แต่กลับถูกปฏิเสธให้บริการ เช่น กรณีตัวอ่อนในครรภ์พิการ การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตของหญิงตั้งครรภ์ ผู้รับบริการที่อายุต่ำกว่า 15 ปี รวมถึงการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการถูกละเมิด ซึ่งการถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์ส่งผลให้ผู้หญิงเหล่านี้ไปหาแหล่งบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย บางรายสั่งยาจากเว็บไซต์เพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 11 ราย และรัฐมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 112 ล้านบาท
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ในรอบปีที่ผ่านมา สายด่วน 1663 พบว่ามีผู้รับบริการถึง 652 รายที่พยายามยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง เช่น การสั่งซื้อยาจากเว็บไซต์เถื่อน หรือทำร้ายตัวเอง เพื่อให้เกิดการแท้ง ซึ่งแสดงว่าการตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นจะเกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้หญิง ซึ่งสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้กฎหมาย แต่กลับถูกปฏิเสธการยุติฯ เพราะทัศนะด้านลบของบุคลากรสาธารณสุขต่อการตั้งครรภ์และการทำแท้ง ส่งผลให้ทุกๆ ปีมีผู้หญิงต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย จึงเรียกร้องหน่วยบริการด้านสุขภาพทุกแห่งให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เพื่อเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับการยุติการตั้งครรภ์มีความปลอดภัยสูงมากและไม่ซับซ้อน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยก็มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยสนับสนุนยาและค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ในการจัดบริการ
นางสาวอัชรา แก้วประดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการการให้บริการปรึกษาสายด่วน 1663 ให้รายละเอียดกรณีผู้รับบริการถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์แม้ว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายว่า ผู้รับบริการรายหนึ่งตั้งครรภ์และแพทย์ที่รับฝากครรภ์ประเมินเบื้องต้นว่าทารกในครรภ์อาจมีพัฒนาการด้านสมองไม่ปกติ ซึ่งสามารถตรวจทราบแน่ชัดได้ในเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ ประกอบกับพบเนื้องอกที่ปากมดลูก แต่ผู้รับบริการไม่อยากรอถึงตอนนั้นเพราะหากต้องยุติการตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์มากจะทำใจได้ยาก จึงแจ้งกับ รพ.ว่าจะขอยุติการตั้งครรภ์เลย แต่ รพ.ตามสิทธิไม่ยุติการตั้งครรภ์ให้ เมื่อผู้รับบริการโทรมาปรึกษาทาง 1663 จึงสามารถยุติการตั้งครรภ์ที่คลินิกในเครือข่ายแพทย์ RSA (Referral system for Safe Abortion) ได้ ส่วนอีกรายผู้รับบริการตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ อัลตราซาวด์ที่คลินิกภายในจังหวัดแล้วพบตัวอ่อนผิดปกติ แพทย์คลินิกซึ่งเป็นแพทย์ของ รพ.ประจำจังหวัดด้วย ได้ส่งตัวผู้รับบริการไปที่ รพ.แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่ออัลตราซาวด์ยืนยันผลอีกครั้ง ทาง รพ.ที่กรุงเทพฯ ได้ยืนยันตัวอ่อนผิดปกติจริง จึงทำใบส่งตัวผู้รับบริการให้มายุติการตั้งครรภ์ที่ รพ.ประจำจังหวัดตามสิทธิบัตรทองของผู้รับบริการ แต่ทาง รพ.ปฏิเสธโดยแจ้งกับผู้รับบริการว่า รพ.ไม่มีนโยบายยุติการตั้งครรภ์
“เรารู้สึกว่าผู้รับบริการบอบช้ำมาก เพราะการที่ลูกของตัวเองมีความผิดปกติจนต้องยุติการตั้งครรภ์ก็ทุกข์ใจมากพออยู่แล้ว แต่ยังต้องมาถูกปฏิเสธการรักษาจาก รพ.ทั้งที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยุติการตั้งครรภ์ให้ ไม่นับรวมกับการที่ต้องเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดที่อยู่กับกรุงเทพฯ ซึ่งมีระยะทางกว่า 300 กิโลเมตรแล้วยังถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า” นางสาวอัชรากล่าว
ด้านนายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้รับผิดชอบโครงการ 1663 กล่าวว่า จากการให้บริการปรึกษาของสายด่วน 1663 เรื่องท้องไม่พร้อมระหว่างปี 1 ต.ค.58 - 30 มิ.ย.61 พบว่ามีผู้ปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมทั้งสิ้นรวม 52,370 ราย และพบว่ามีผู้รับบริการวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มมากขึ้นทุกปี คิดเป็นร้อยละ 30.1 ของผู้รับบริการทั้งหมด ทั้งนี้ผู้รับบริการร้อยละ 89.7 ได้ทางเลือกที่ชัดเจนหลังปรึกษา โดยร้อยละ 6.2 เลือกตั้งครรภ์ต่อ ในขณะที่ร้อยละ 83.5 เลือกยุติการตั้งครรภ์ ซึ่ง 1663 ได้ส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ไปยังหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของแพทยสภา
“ที่ผ่านมา 1663 ทำงานร่วมกับกรมอนามัยและแพทย์ RSA ในการช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมให้ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากสามารถขยายบริการเรื่องนี้ได้ในระบบปกติของหน่วยบริการสาธารณสุขก็จะช่วยให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมปลอดภัยมากขึ้นและเข้าถึงบริการได้สะดวกไม่ต้องเดินทางไกล เนื่องจากแพทย์ RSA ไม่ได้มีอยู่ทุกจังหวัด ผู้รับบริการและแพทย์ที่ยินดีทำน่าเห็นใจมาก บางรายต้องเดินทางข้ามภาคจากเหนือไปอีสานเพื่อไปรับบริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งบางรายก็เลือกที่จะหาทางยุติด้วยตัวเองแทนเพราะไม่มีค่าเดินทาง ไม่สามารถเดินทางไปไหนไกลๆ ได้เนื่องจากมีคนในครอบครัวที่ต้องดูแล” นายสมวงศ์กล่าว
*** ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองบรรณาธิการ ***