ธิติพร ดนตรีพงษ์
ข่าวสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปลดล็อกให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองได้นั้น ได้ปลุกกระแสให้สังคมกลับมาคุยเรื่องเอดส์กันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ไม่มีข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องเอดส์มานาน โดยเลขาธิการ อย.ระบุในการแถลงข่าวว่า “การปลดล็อกให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง เป็นการเพิ่มทางเลือกในการตรวจคัดกรอง แทนที่ต้องไปตรวจ ณ สถานพยาบาล เท่านั้น ทำให้ประชาชนทราบถึงสถานะการติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีโอกาสป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปยังบุคคลอื่น แต่ในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี การตรวจเพื่อรู้สถานการณ์การติดเชื้อเร็วจะทำให้สามารถเริ่มรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้” (https://workpointnews.com/2019/04/19/1)
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากการให้บริการปรึกษาของสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ระหว่าง 1 ม.ค.-31 มี.ค.62 พบว่า มีผู้รับบริการปรึกษาเรื่องความกังวลว่าจะติดเชื้อเอชไอวี และหลังจากได้รับบริการปรึกษาแล้วพบว่ามีความเสี่ยงจริงจำนวน 1,640 ราย เมื่อค้นประวัติการตรวจเอชไอวีพบว่ามี 338 ราย ที่ไม่เคยตรวจเอชไอวีเลย ทั้งนี้มีเหตุผล 2 แบบที่ทำให้กลุ่มนี้ไม่เคยตรวจเอชไอวี คือ กลุ่มแรกคิดว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยง 233 ราย และกลุ่มที่สอง คือ คิดว่าตัวเองเสี่ยงแต่ไม่กล้าตรวจ จำนวน 105 ราย
เมื่อมาพิจารณาเหตุผล แบบเลือกคำตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ของผู้รับบริการ 105 รายที่ไม่กล้าตรวจเลือด พบว่า จำนวน 8 รายไม่รู้ว่า ตัวเองมีสิทธิตรวจเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้ง จำนวน 38 รายกลัวรู้ผลและยังทำใจไม่ได้ ขณะที่ 11 รายอยู่ในช่วงวินโดว์พีเรียด (window period – หรือระยะที่ยังตรวจหาแอนติบอดี้ไม่พบ) และมี 56 ราย ที่อยู่ระหว่างหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการตรวจเอชไอวีและข้อมูลเกี่ยวกับโรค โดยคนกลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีเครื่องมือตรวจเอชไอวีด้วยตัวเองก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์มากนัก เนื่องจากจำนวนหนึ่งยังกลัวและทำใจไม่ได้ที่จะรู้ว่าตัวเองติดเชื้อฯ ในขณะเดียวกันผู้รับบริการจำนวนมากก็ยังต้องการข้อมูลที่มากพอก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะตรวจหรือไม่ตรวจเอชไอวี
โจทย์ใหญ่ของเรื่องนี้ อาจไม่ใช่คนที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าตัวเองมีความเสี่ยงแต่ยังไม่ไปตรวจเลือด แต่อยู่ที่คนที่มีความเสี่ยงจริง แต่ไม่คิดว่านั้นเป็นความเสี่ยง กรณีที่พบบ่อย เช่น คนที่มีแฟน มีคู่ประจำอย่างสามี/ภรรยา มักมาปรึกษาด้วยความกังวลว่าจะติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้ติดเชื้อฯ แต่ไม่คิดถึงความเสี่ยงต่อการรับเชื้อฯ จากคู่
หลายคน มีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ โดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ส่วนกับแฟนหรือคู่สามี/ภรรยา ไม่เคยใช้ถุงยางเลย แต่สิ่งที่กังวลคือกลัวจะติดเชื้อฯ จากกรณีใช้ถุงยางอนามัย เพราะเขาประเมินว่า คู่ของเขาไม่มีทางมีเชื้อเอชไอวี เนื่องจากเห็นกันมานาน อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ไม่มีทางไปมีคนอื่นได้
คนเหล่านี้มักจะไม่ตรวจเลือดอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่มีโอกาสรับเชื้อเอชไอวี และต่อให้เข้าถึงอุปกรณ์การตรวจได้ง่าย หากไม่มีการทำงานเรื่องทัศนคติ ความเชื่อเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีกับคนเหล่านี้ เขาจะก็ไม่ซื้อมาตรวจ
ตอนหน้าเราจะมาคุยกันต่อว่า กรณีผู้ที่รู้ผลเลือดแล้วว่าติดเชื้อเอชไอวี พวกเขาเข้าถึงการรักษาแล้วหรือยัง?
*** ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองบรรณาธิการ ***