ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

เมื่อบ้านเราจะมีเครื่องมือตรวจเอชไอวีด้วยตัวเองขายแล้ว! (ตอนที่ 2)

By nuttynui 20 พ.ค 2562 17:05:58
 
ธิติพร  ดนตรีพงษ์
 
            ตอนที่แล้ว ได้พูดถึงการมีเครื่องมือตรวจเอชไอวีด้วยตัวเองขายว่า อาจจะตอบโจทย์การเข้าถึงการตรวจเอชไอวีมากขึ้น แต่ต้องช่วยกันคิดต่อว่า จะทำอย่างไรให้คนที่ไม่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยง แต่จริงๆ แล้ว “เสี่ยง” ได้เห็นสถานการณ์ของตัวเอง ประเมินความเสี่ยงที่แท้จริงได้ และนำเครื่องมือมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด

            ในตอนนี้ จะพูดถึงกรณีคนที่รู้ผลเลือดว่าติดเชื้อฯ แล้ว พวกเขามีสถานการณ์การเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างไรบ้าง

            จากข้อมูลการให้บริการปรึกษาของ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ระหว่าง 1 ก.ย.61 - 28 ก.พ. 62 พบว่า มีผู้ที่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี 1,852 ราย ที่โทรมาขอรับการปรึกษา ในจำนวนนี้ มี 196 ราย หรือร้อยละ 10.58 ที่ยังไม่เข้าสู่การรักษา เนื่องจากเพิ่งทราบผลตรวจ และโทรมาเพื่อขอข้อมูลการรักษาด้วยยาต้านไวรัส

          อย่างไรก็ตาม มีผู้รับบริการอีก 9 ราย หรือร้อยละ 0.49 ที่สมัครใจไม่รับการรักษาแม้จะทราบข้อมูลเรื่อง “เอดส์รักษาได้” เนื่องจากรู้สึกว่าตัวเองยังแข็งแรง มี CD4 หรือค่าภูมิต้านทานสูง ในขณะที่ อีกจำนวนหนึ่งสภาพจิตใจยังไม่พร้อม บางรายรู้ผลเลือดมานานแล้ว แต่พร้อมที่จะเสียชีวิต เพราะไม่มีห่วงอะไร และคนที่รักมากที่สุดคือสามี ก็ได้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากเอชไอวี/เอดส์ จึงคิดว่าการตายคือการสิ้นสุดความทุกข์ที่ต้องอยู่คนเดียว

            หากพิจารณาจากสถานการณ์ดังกล่าว ความคาดหวังที่ว่าเครื่องมือตรวจเอชไอวีด้วยตัวเองจะทำให้คนเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้นก็อาจจะไม่เป็นจริงทั้งหมด เพราะเอชไอวีไม่เหมือนกับโรคอื่นๆ ที่เมื่อรู้ผลแล้วคนจะตัดสินใจเดินไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาทันที การต้องเผชิญกับมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อคนที่ติดเชื้อฯ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

            อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยากกว่าการเผชิญกับการถูกคนอื่นมองในแง่ลบ คือการต่อสู้กับการตอกย้ำและการมองว่าตัวเองด้อยค่า หรือที่เรียกว่า “การตีตราตัวเอง” ของผู้ติดเชื้อฯ เพราะกลายเป็นปมในใจที่ยากจะคลี่ออก หลายคนอาจจะเริ่มยาและเมื่อรักษาไปสักพักก็หยุดยา เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่อยากเป็นภาระของใคร

                ในขณะเดียวกัน เครื่องมือตรวจเอชไอวีด้วยตัวเองอาจจะทำให้คนรู้ผลแล้วรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาไปคู่กันคือการรักษาเอชไอวี/เอดส์ที่ได้มาตรฐานตามไกด์ไลน์หรือแนวทางการรักษาเอชไอวี/เอดส์ของประเทศ เพราะในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา 1663 พบว่ามีผู้รับบริการ 4 รายที่เสียชีวิต โดย 3 ใน 4 รายนี้เสียชีวิตด้วยโรคฉวยโอกาสอันเนื่องมาจากไม่ได้รับบริการรักษาที่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่ 1 รายพบหมอตามนัดและกินยาต้านไวรัสตรงเวลาทุกวัน

                อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนทำงานเรื่องเอดส์ ผู้เขียนรู้สึกดีใจที่ประเทศเราจะมีเครื่องมือที่ทำให้คนเข้าถึงการตรวจเอชไอวีมากขึ้น เพราะเอาเข้าจริงการไปรับบริการที่โรงพยาบาลก็ไม่ค่อยมีใครอยากไปนัก และการรู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีของตัวเองก็ส่งผลถึงการป้องกันด้วย แต่เมื่อ “ขาป้องกัน” เดินหน้าไปแล้ว “ขารักษา” จะต้องก้าวตามไปให้ทัน โดยเฉพาะการมอนิเตอร์คุณภาพมาตรฐานการรักษาให้เป็นไปตามไกด์ไลน์ของประเทศ

            เพื่อที่จะไม่ต้องมีใคร เสียชีวิตด้วยเอชไอวีอีก ตามยุทธศาสตร์งานเอดส์ของประเทศที่ว่า การเสียชีวิตจากเอดส์ต้องเป็น ศูนย์’!



 
*** ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองบรรณาธิการ ***
-->