หลายวันก่อนสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ๑๖๖๓ ได้ให้บริการปรึกษาจากผู้รับบริการรายหนึ่ง ว่าแฟนของเธอ ซึ่งติดเชื้อเอชไอวี และอยู่ในเรือนจำ กำลังจะขาดยาต้านไวรัส เนื่องจากไม่สามารถออกมารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคมได้
เธอปรึกษาว่า ควรจะต้องทำอย่างไรดี?
ก่อนหน้านี้แฟนของเธอมีสิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่เธอได้ทำเรื่องย้ายสิทธิของเขามาที่โรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้กับเรือนจำมากที่สุด โดยหวังว่าเขาจะได้รับการรักษาเอชไอวี/เอดส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการรับยาต้านไวรัส และการตรวจร่างกายต่างๆ
แต่เมื่อย้ายสิทธิประกันสังคมมา จากที่เคยได้รับยาต้านไวรัสจากโรงพยาบาลเดิมมาให้แฟนในเรือนจำ ตอนนี้ก็ไม่สามารถใช้สิทธินั้นได้ เนื่องจากทางโรงพยาบาลใหม่ปฏิเสธการรักษา โดยให้เหตุผลว่า จะให้การรักษาเฉพาะกับคนไข้โดยตรงเท่านั้น แม้จะมีประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลแห่งเก่ามา และรู้เงื่อนไขว่า แฟนของเธอถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำก็ตาม
โรงพยาบาลแก้ปัญหาด้วยการให้ยาต้านไวรัสมา ๑ เดือน แล้วไม่มีการนัดรับบริการใหม่อีก
เมื่อร้องเรียนไปยังสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็แจ้งว่า ให้ย้ายสิทธิกลับมาใช้ที่โรงพยาบาลเอกชนตามเดิม ขณะที่ ทางเรือนจำก็แจ้งว่า ไม่สามารถนำแฟนของเธอออกมารับการรักษาได้ และจะประสานงานได้เฉพาะกับโรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์เท่านั้น
เธอกลุ้มใจมาก เพราะการขาดยาของผู้ติดเชื้อฯ อาจส่งผลให้ป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส และทำให้ดื้อยาได้
ทางสายด่วน ๑๖๖๓ ได้ประสานงานไปยัง สปส.หลายครั้ง ก็พบว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ แม้ทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะให้การช่วยเหลืออย่างดี แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการไปขอยาต้านไวรัส ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ๒๘ กรุงธนบุรี มาให้ก่อน
แต่การรักษาตัวในระยะยาว เช่น การตรวจค่าตับ ค่าไต ค่าภูมิต้านทาน ค่าไวรัสในกระแสเลือด ฯลฯ ยังไม่มีแผนในการแก้ปัญหา
ขณะที่ หากผู้ต้องขังใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า ‘บัตรทอง’ เขาเหล่านั้นจะไม่ประสบปัญหานี้ ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคเรื้อรังอะไร หัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ความดัน เอชไอวี ฯลฯ สามารถเข้ารับการรักษาต่อเนื่องได้ ไม่ติดเงื่อนไขเรื่อง ‘สิทธิ’
จริงอยู่ที่สิทธิประกันสังคมจะหมดลง หากเราขาดส่งต่อเนื่องเป็นเวลา ๖ เดือน และผู้ประกันตนนั้นจะมีสิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิบัตรทอง
แต่หากผู้ประกันตน ซึ่งเป็นผู้ต้องขังด้วย ยังประสงค์จะส่งเบี้ยประกันตนเองอยู่ตามมาตรา ๓๙ ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น บำนาญเมื่อยามแก่ชรา คำถามคือ หากเขาถูกคุมขังแล้ว เขา ‘จำต้อง’ สละสิทธิเหล่านี้ด้วยหรือ?
เพื่อให้ตัวเองเข้าถึงการรักษา
จากสถานการณ์ของกรณีนี้ ทำให้เรารู้ได้ว่า ไม่ว่าผู้ต้องขังจะป่วยด้วยโรคเรื้อรังอะไร หากมีสิทธิประกันสังคมอยู่ เขาเหล่านั้นจะไม่ได้รับการรักษา เพราะเรือนจำไม่สามารถนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้
ทางแก้ปัญหาในตอนนี้ คือ รอจนกว่าสิทธิประกันสังคมจะหลุด แล้วกลับมาใช้สิทธิบัตรทอง
จากข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมราชทัณฑ์ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ ระบุว่า มีจำนวนผู้ต้องขังจากทัณฑสถานทั่วประเทศ ๑๔๓ แห่ง จำนวน ๒๘๗,๘๒๑ คน และข้อมูลในเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ พบว่า มีผู้ใช้สิทธิประกันสังคมที่อยู่ในทัณฑสถาน ร้อยละ ๒.๐๓ หรือราว ๕,๘๔๓ คน
หากลองคิดคร่าวๆ ว่าผู้ต้องขังที่มีสิทธิประกันสังคมป่วยด้วยโรคเรื้อรังจำนวนร้อยละ ๑๐ หรือ ๕๐๐ กว่าคน คนเหล่านี้ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคอะไร คงไม่ได้เข้าสู่การรักษา เพราะตัวเลขเหล่านี้ คงไม่เป็นจำนวนที่มากพอ ที่จะทำให้ สปส.คิดแก้ปัญหาในระยะยาว?
จะดีกว่าไหม หาก สปส.ทำความตกลงกับกรมราชทัณฑ์ กับโรงพยาบาลที่ให้บริการสิทธิประกันสังคม ให้จัดระบบบริการ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน ที่เป็นผู้ต้องขังมากที่สุด
หากสำนักงานประกันสังคมมีภารกิจหลัก คือ “การบริหารการประกันสังคมและเงินทดแทน โดยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แรงงานมีหลักประกันชีวิตที่มั่นคง”
ก็ควรจะแก้ปัญหานี้ได้ในเร็ววัน เพื่อให้ผู้ต้องขัง ที่เป็น ‘ผู้ประกันตน’ ได้มีหลักประกันชีวิต “ด้านสุขภาพ” ที่มั่นคง
อย่างที่บอกไว้ในพันธกิจขององค์กร!
#ประกันสังคม #สปส. #ย้ายสิทธิ #รักษาไม่ได้ #ผู้ต้องขัง #กรมราชทัณฑ์ #1663 #ปรึกษา #เอชไอวี #เอดส์