ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

“คืนสิทธิ” ให้วัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม

By nuttynui 24 มิ.ย 2562 15:04:20
 
ธิติพร  ดนตรีพงษ์

วันก่อน ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมประชุมเพื่อเจรจาหาทางออกให้เด็กที่ท้องไม่พร้อมคนหนึ่งได้เรียนต่อในโรงเรียนเดิมจนจบ ม.3 โดยในวงประชุมมีทีมผู้บริหารโรงเรียน คณะครูที่เกี่ยวข้อง นักสังคมสงเคราะห์ กองการศึกษาของเทศบาล ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงเรียนดังกล่าว และที่สำคัญคือผู้ปกครองของเด็กมาหารือร่วมกัน

ก่อนหน้านี้ แม่ของเด็กรายนี้โทรมาปรึกษากับสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ว่าลูกสาวเรียนอยู่ชั้น ม.2 วัย 14 ปี ตั้งครรภ์ราว 5 เดือน และเมื่อโรงเรียนทราบเรื่องได้อนุญาตให้เรียนจบเพียงแค่ชั้น ม.2 เท่านั้น เมื่อขึ้น ม.3 แล้วแนะนำให้ย้ายโรงเรียนเพื่อที่เด็กจะได้ไม่ต้องเครียดกับภาวะที่ต้องเผชิญในโรงเรียน หรือไม่ก็ไปเรียน กศน. จะได้มีเวลาเลี้ยงลูก แม่รู้สึกเสียใจมาก แต่ได้ปรึกษากันแล้วกับลูกว่า ต้องการให้ลูกเรียนต่อที่เดิมจนจบ เพราะไม่ต้องการให้ลูกต้องเผชิญคำถามจากที่เรียนแห่งใหม่ว่า ทำไมต้องย้ายที่เรียนกลางคัน

เป้าหมายในการคุยครั้งนี้ชัดเจนว่า เราทุกคนต้องการช่วยเด็ก เพราะเด็กได้บอกความประสงค์ว่า ต้องการเรียนต่อที่โรงเรียนเดิม ไม่อยากย้ายไปที่อื่น เพราะไม่ต้องการตอบคำถามว่าทำไมถึงย้ายกลางคัน ไม่อยากปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ดังนั้น การเจรจาจึงยึดความต้องการของเด็กเป็นตัวตั้ง ในขณะเดียวกันก็พยายาม เข้าใจความกังวลและทัศนคติที่หลากหลายของผู้เข้าร่วมประชุม

มติของที่ประชุมสรุปว่าจะให้เด็กเรียนต่อจนจบ ม.3 โดยการเรียนในเทอมแรกจะเป็นการมาพบคุณครูสัปดาห์ละครั้ง เพื่อมารับงานกลับไปทำและทำความเข้าใจเนื้อหาที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ทั้งนี้ เด็กสามารถร่วมกิจกรรมของโรงเรียนได้ตามความเหมาะสม ตามความถนัดของเด็ก และหากเด็กสามารถปรับตัวได้ก็ให้โอกาสมาเรียนร่วมกับเพื่อนในเทอมที่ 2 ของปีการศึกษา

แม้ว่าการคุยจะจบลงตามเป้าหมายที่เด็กต้องการว่าอยากเรียนต่อและจบการศึกษาที่โรงเรียนนี้ แต่มีคำถามจากฝ่ายโรงเรียน 2 ข้อที่เราต้องตอบ คือ 1.เราตามใจเด็กแบบนี้ทุกกรณีเลยหรือเปล่า หรือเป็นการตามใจเด็กมากเกินไปหรือไม่? และ 2.ทำไมเราต้องลงทุนกับเด็กเพียงคนเดียวที่เป็นปัญหา?

สองคำถามนี้ ทำให้ผู้เขียนกลับมาคิดว่า สังคมเรายังมองว่า “เด็กเป็นปัญหา” และการแก้ปัญหาคือการ “ตัดทิ้ง” โดยไม่ได้มองว่า อะไรที่ทำให้เด็กต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว และเมื่อเกิดปัญหาแล้ว จะช่วยประคับประคองเด็กกันอย่างไร ให้สามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้

คำตอบที่ทีมเราร่วมแลกเปลี่ยนคือ เราไม่ได้ตามใจเด็ก แต่เป็นเรื่องที่เด็กเลือก และเลือกตามสิทธิที่ตัวเองมี ตามที่กฎหมายกำหนด ในขณะเดียวกัน การช่วยเหลือเด็กแม้แต่เพียงคนเดียวที่เกิดปัญหาไม่ใช่การลงทุน จึงไม่ได้คิดเรื่องความคุ้มทุน เพียงแต่เรากำลังช่วยเด็กและกำลัง “ชดใช้” ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสังคมอันเลวร้ายให้เด็กต้องเผชิญ

หลายคนอาจลืมไปว่า เด็กไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มาก่อน ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่เขาต้องเผชิญ ดังนั้น จึงมีโอกาสพลาดได้ในชีวิต

แต่ผู้ใหญ่ เคยเป็น “เด็ก” มาก่อน มีประสบการณ์และผ่านโลกมามากกว่า ต้องมองออกว่าอนาคตของเด็กที่กำลังประสบปัญหา จะ “สดใส” ได้ถ้ามีผู้ใหญ่ช่วยประคอง ไม่ผลักไส

อย่างน้อย ถ้าไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก แค่ไม่ลิดรอนสิทธิที่เด็กมี ก็นับว่าช่วยได้มากแล้ว

 
 
-->