ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

ขอเสียงหน่อยยยย!

By nuttynui 8 ก.ค 2562 14:50:24
พรรณอุมา สีหะจันทร์

“ผมเรียนจบด้านสาธารณสุขมาครับ มีหน่วยงานไหนที่ไม่ตรวจเลือดเอชไอวีบ้าง เพราะผมมีเชื้อเอชไอวี ผมจะสมัครงานที่ไหนได้ครับ?”

“หนูไปสมัครงานที่โรงพยาบาลเอกชนค่ะ เค้าให้ตรวจเอชไอวีด้วย ถ้าหนูมีเชื้อฯ เขาจะรับไหมคะ มีที่ไหนที่ไม่ตรวจเลือดบ้างไหม?”

พอเห็นข้อความลักษณะนี้ คุณคิดยังไง? มีคำตอบให้น้องๆ เขาได้มั้ย? ว่าเขาเหล่านี้ควรทำอย่างไร หรือเลือกทางใด? ระหว่างสู้เพื่อสิทธิที่พึงมีของตัวเอง หรือยอมๆ ไปเสีย เพราะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ กับเอกชนหรือผู้ประกอบการหรอก

ปัญหาในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ลักษณะนี้มีมานานแล้ว แต่ ‘เรา’ แก้ปัญหากันไม่ได้สักที วนไปวนมาจนเหมือนงูกินหาง บางครั้งจากที่กินหาง อาจเริ่มเลื้อยเข้ามาใกล้จนงับหัวแล้วก็ได้!

ปัญหาในเรื่องนี้ ถ้ามองจากมุมผู้ประกอบการ ที่เคยให้เหตุผลต่างๆ นานาเวลามีนโยบายไม่รับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงานนั้น ก็เนื่องจากว่า กังวลว่าผู้ติดเชื้อฯ จะป่วยง่าย ลาหยุดบ่อย ทำงานไม่ไหว นำโรคไปติดต่อเพื่อนร่วมงาน หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมา อาจส่งต่อเชื้อฯ ได้ และก็ไม่มีเหตุผลใดๆ อื่นที่มากกว่านี้

ในขณะที่ข้อเท็จจริงในเรื่องเอดส์ สามารถตอบคำถาม และแก้ความกังวลใจเหล่านั้นได้ทั้งหมด แต่กลับไม่ทำให้สถานการณ์การกีดกัน เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีดีขึ้น เรายังพบว่าหลายหน่วยงาน “เลือกปฏิบัติ” กับผู้ติดเชื้อฯ เพียงเพราะความเข้าใจผิด

และถึงแม้ว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ อย่างรัฐธรรมนูญ จะรับรองสิทธิไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติก็ตาม

แต่ชีวิตจริง...ก็คือชีวิตจริง

ภาคประชาชนจึงได้รวมตัวกันทำร่างกฎหมายของประชาชนขึ้นมา เพื่อเสนอต่อสภาในการพิจารณา เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนพิการ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนชาติพันธุ์ ฯลฯ อีกด้วย

หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ระบุไว้ว่า ๑.ทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติทั้งทางตรง ทางอ้อม การล่วงละเมิด ไม่ว่าจะมีความแตกต่างใดๆ ตามหลักการสิทธิมนุษยชน

๒.รัฐมีหน้าที่ส่งเสริม ปกป้องคุ้มครอง และช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบปัญหา รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ โดยกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายกลางที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในแต่ละกรณีเอาไว้ ซึ่งหมายถึงการมีบทลงโทษทางอาญา และการชดใช้ค่าเสียหายด้วย

อย่างไรก็ดี เราหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ความไม่เป็นธรรมต่อหลายๆ คนลดน้อยลง แต่กฎหมายของภาคประชาชนจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยแรงจากทุกๆ คนในการมีส่วนร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้ถึง ๑๐,๐๐๐ รายชื่อขึ้นไป เพื่อที่จะร่วมกันผลักดันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นต่อใครก็ตาม

เราอาจเคยได้ยินข่าวมาแล้วว่า ถ้าเป็นกะเทยห้ามเข้าไปในโรงแรมบางแห่ง

เป็นผู้ใช้ยาใช้บริการของโรงแรมแถวเมือง ในเมืองไม่ได้

ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์กีดกัน เลือกปฏิบัติเช่นนี้ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติกันเถอะ โดยสามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

ทุกเสียงของคุณเป็นพลังเปลี่ยนสังคมให้น่าอยู่ได้นะ

^_____________________^  
-->