ธิติพร ดนตรีพงษ์
แต่ละเดือน 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ให้บริการปรึกษากับผู้ประสบปัญหาทั้งเรื่องเอชไอวี/เอดส์ และท้องไม่พร้อมราว 4-5 พันราย และครึ่งหนึ่งของผู้รับบริการเป็นการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม
เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาก็เช่นกัน มีผู้รับบริการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมทั้งสิ้น 2,568 ราย ในจำนวนนี้ทราบว่าตั้งครรภ์แล้ว 1,997 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.76 ของผู้รับบริการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม
อย่างไรก็ตาม มีผู้รับบริการจำนวน 12 รายที่ติดเชื้อเอชไอวีและตั้งครรภ์อยู่ด้วย โดย 3 รายเพิ่งทราบว่าตัวเองติดเชื้อฯ จากการไปฝากครรภ์มา
หนึ่งในนั้นระบุว่า “ไปฝากท้อง หมอตรวจเลือดพบว่าติดเชื้อเอชไอวี หมอก็ไม่พูดอะไร นัดรับยาต้านฯจันทร์หน้า งงไปหมดเลย ตั้งตัวไม่ทัน”
หลายครั้งที่ปัญหาท้องไม่พร้อม ไม่ได้จบลงเพียงเพราะได้รับบริการยุติตั้งครรภ์ หรือยกบุตรให้สถานสงเคราะห์ แต่กลับตามมาด้วยการจัดการชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกับเอชไอวี
แม้ว่าทางการแพทย์จะมียาต้านไวรัส ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีแข็งแรงไม่ต่างจากคนทั่วไป รวมถึงยังลดโอกาสการส่งต่อเชื้อฯ ตั้งแต่แรกคลอด ซึ่งทำให้โอกาสที่เด็กจะได้รับเชื้อเอชไอวีเหลือเพียง 1-2% เท่านั้น แต่ทั้ง 3 รายก็เลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ และ 1 รายบอกว่า “ยังไม่พร้อมรับยาต้านไวรัส”
เมื่อเดือนก่อน มีนักศึกษาที่เรียนใกล้จบคนหนึ่งท้องไม่พร้อม เมื่อเธอไปฝากท้องก็พบว่าติดเชื้อเอชไอวีด้วย ทางที่เธอเลือกเดินคือยุติการตั้งครรภ์ เพราะแฟนเลิกราตั้งแต่ทราบว่าเธอท้อง ตอนนี้จึงตั้งใจแค่ว่าต้องการเรียนให้จบโดยเร็ว เพื่อทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และเธอเป็นอีกคนหนึ่งที่บอกว่า “ยังไม่อยากกินยาต้านไวรัส รอไปก่อน รอให้อะไรๆ ลงตัวกว่านี้ก่อน”
ไม่ว่าเทคโนโลยีการรักษาเอชไอวีจะก้าวไปข้างหน้าไกลเพียงใด แต่หากไม่สามารถจัดการ “ความไม่พร้อม” ในใจคนออกไปได้ ก็ยังจะมีคนป่วยและตายจากเอดส์อยู่...เสมอ
*** ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองบรรณาธิการ ***