ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

เอ็นจีโอเอดส์ค้านสิทธิบัตรยารวมเม็ดรักษาเอชไอวี หวังให้ทุกคนเข้าถึงยาดี กินง่าย ไม่แพง

By nuttynui 13 ส.ค 2562 10:46:11

13 สิงหาคม 2562
 
                   มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เข้ายื่นจดหมายถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรียกร้องให้เร่งพิจารณาและยก (ปฏิเสธ) คำขอรับสิทธิบัตรที่บริษัทวีไอไอวี เฮลธ์แคร์ คัมปะนี สัญชาติอเมริกา ยื่นจดสิทธิบัตรยาสูตรรวมเม็ดสำหรับรักษาเอชไอวีในไทย เพื่อปลดล็อกการผูกขาดที่อาศัยช่องว่างกฎหมายสิทธิบัตร และให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนในไทยได้รับการรักษาที่ดีขึ้น
 
                   บริษัทวีไอไอวีฯ ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรในยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรรวมเม็ด ที่มีส่วนผสมของยาโดลูเทกราเวียร์รวมกับยาต้านฯ อีก 2 ชนิดในไทยเมื่อ 25 ก.ค. 2555 คำขอสิทธิบัตรในไทยเลขที่ 1201003753 โดยใช้เอกสารคำขอฯ ที่ยื่นในสหรัฐเลขที่ US2011/022219 เป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับยื่นขอรับสิทธิบัตรในไทย
 
                   อภิวัฒน์ กวางแก้ว  ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ประเทศไทย  กล่าวว่า “องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่มีส่วนผสมของยาโดลูเทกราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัส สูตรพื้นฐานของทุกประเทศในการรักษาเอชไอวี ยาสูตรผสมนี้จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ผู้ติดเชื้อฯ ไม่จำเป็นต้องกินยาหลายเม็ด กินวันละครั้ง ประสิทธิภาพการกดเชื้อเอชไอวีดีกว่ายาต้านฯ ตัวอื่น ผลข้างเคียงจากยามีน้อยและไม่รุนแรง และยาสูตรนี้จะทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีดื้อยายาก”
 
                    “ในขณะนี้ผู้ติดเชื้อที่รักษาด้วยยาต้านฯ มาหลายปี ในสูตรพื้นฐานเดิม เริ่มมีผลข้างเคียงจากยาที่ใช้อยู่ ที่ทำให้ไขมันในเลือดสูง ความดันเพิ่ม ทำให้หมอต้องให้ยาลดไขมัน ยาลดความดัน จำนวนมาก  ถ้ายาสูตรผสมโดลูเทกราเวียร์นี้ ไม่มีคำขอรับสิทธิบัตรยื่นคาไว้  องค์การเภสัชกรรมจะสามารถผลิตได้ และจะทำให้ยาราคาถูกลงมาก จนอาจจะมีราคาถูกใกล้เคียงกับราคายาต้านฯ สูตรพื้นฐานที่ใช้อยู่ ซึ่งจะมีผลดีต่อทั้งผู้ติดเชื้อฯ รายเก่าที่ใช้สูตรพื้นฐานเดิมอยู่ และผู้ติดเชื้อที่เริ่มการรักษาทุกปีกว่า​30,000 คน ประเด็นนี้ พวกเราจึงอยากจะให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบด้าน”
                   นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยาของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า “มูลนิธิฯ เคยยื่นจดหมายคัดค้านคำขอฯ ในไทยฉบับนี้ต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 เพราะเป็นการขอคุ้มครองการนำยาเก่าไปรวมเม็ดกัน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาให้สิทธิบัตร”
 
                   “เราค้นพบเพิ่มเติมว่า คำขอรับสิทธิบัตรเดียวกันที่ยื่นในยุโรป (เลขที่  EP2531027) เป็นคำขอฯ เดียวกับที่ยื่นในประเทศไทย (เลขที่ 1201003753) และทั้งสองคำขอฯ ได้ใช้คำขอฯ ที่ยื่นในสหรัฐ (เลขที่ US2011/022219) เป็นเอกสารอ้างอิง  บริษัทวีไอไอวีฯ ได้สิทธิบัตรในยุโรปไปเมื่อ 6 พ.ค. 2559 แต่ได้มีผู้ยื่นคำคัดค้าน 4 รายคัดค้านสิทธิบัตรฉบับนี้  สำนักสิทธิบัตรของยุโรปพิจารณาและมีคำตัดสินยกเลิกสิทธิบัตรฉบับนั้นแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2559”
 
                   นายนิมิตร์กล่าว “เราต้องการให้มียาสูตรรวมเม็ด 3 ตัว ยาโดลูเทกราเวียร์+ยาทีโนโฟเวียร์+ยาลามิวูดีน ในระบบหลักประกันสุขภาพ แต่เนื่องจากประเทศเรามีคำขอรับสิทธิบัตรยื่นขวางท่อไว้ ทั้งๆ ที่ไม่ควรพิจารณาให้สิทธิบัตรและที่ยุโรปก็ได้ยกเลิกสิทธิบัตรยาสูตรผสมนี้ไปแล้ว  ยาจึงมีราคาแพง ตก 10,000 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน ระบบหลักประกันฯ จึงยังไม่มียานี้เป็นสูตรพื้นฐานของประเทศอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพไม่ได้  ยาต้านไวรัสฯ สูตรพื้นฐานของไทยในปัจจุบันมีราคา 710 บาทต่อคนต่อเดือน  ในขณะที่ยาสูตรผสมโดลูเทกราเวียร์ในบางประเทศราคาไม่ถึง 200 บาทต่อคนต่อเดือน เพราะไม่มีสิทธิบัตรเป็นอุปสรรค”
 
                   “หลายครั้งที่กรมฯ พิจารณาให้สิทธิบัตร ด้วยเหตุผลว่า ในประเทศพัฒนาแล้วให้สิทธิบัตรไปแล้ว แต่ครั้งนี้บริษัทยาข้ามชาติได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม โดยอ้างว่าได้ยื่นกับสำนักสิทธิบัตรยุโรปด้วย ยาตัวเดียวกันที่ยื่นทั้งในยุโรปและในประเทศไทย  แต่เมื่อเราตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจึงพบว่า สำนักสิทธิบัตรยุโรปได้พิจารณายกคำขอสิทธิบัตรนั้นแล้ว เราจึงมาดูว่ากรมฯ จะว่ายังไง จะเดินตามสำนักสิทธิบัตรยุโรปเหมือนที่เคยปฏิบัติหรือไม่ หรือจะใช้เหตุผลอะไรพิจารณาคำขอฯ นี้ต่อ”
 
                   “พวกเรามายื่นจดหมายอีกครั้ง พร้อมกับเอกสารคำคัดค้านและคำตัดสินยกเลิกสิทธิบัตรในยุโรป เราได้ช่วยกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยทำการบ้าน และขอให้กรมฯ ปฏิเสธคำขอฯ ในไทยฉบับนี้ทันที”
 
                   “เราจะไม่มีทางส่งเสริมให้ประเทศไทยต่อสู้กับเอชไอวีและเอดส์ได้สำเร็จเลย ถ้าเราไม่มียาสูตรที่เป็นมิตรให้กับผู้ติดเชื้อฯ ที่จะส่งเสริมให้พวกเขากินยาได้ง่ายขึ้น  เมื่อพวกเขากินยารักษาก็เท่ากับเป็นการป้องกันไม่ให้ส่งต่อเชื้อได้ไปในตัว เพราะยาจะช่วยกดเชื้อไวรัสให้ลดลงจนถึงระดับที่ส่งต่อให้กันไม่ได้”

 
-->