ธิติพร ดนตรีพงษ์
สองสามวันมานี้ มีคนแชร์คำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ – จุติ ไกรฤกษ์กันมาก ถึงเรื่องที่บอกว่า ผู้หญิงมี “DNA ของความเป็นแม่และเป็นเมีย” อยู่ในตัวเอง
วาทกรรมเรื่องความเป็น “แม่” และ “เมีย” มีมานานแล้ว และถือเป็นวาทกรรมที่สร้างความอึดอัด เจ็บช้ำให้ผู้หญิงอีกไม่น้อย ที่ไม่ได้ปรารถนาจะอยู่ในกรอบของความเป็นแม่และความเป็นเมีย
หากความเป็นเมียนั้น มาพร้อมกับบทบาทการดูแลบ้าน ดูแลลูก ดูแลสามี ตอบสนองทางเพศให้กับสามี เมื่อสามีต้องการ (ไม่ว่าตัวเองจะต้องการหรือไม่) และความเป็นแม่ที่มาพร้อมกับความกดดันว่า เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องมีลูก เมื่อมีแล้วก็ต้องเลี้ยงลูกให้ได้ดี
หากความเป็นแม่ ‘ที่ดี’ วัดได้จากการเลี้ยงลูกแล้วเติบโตมาได้ดิบได้ดี หากลูกไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็จะมีเสียงลอยมาว่า “เลี้ยงลูกยังไงให้เป็นแบบนี้?” ซึ่งแน่นอนว่าเช่นนี้ไม่ใช่คำชม
ดังนั้น เมื่อตัดสินใจเป็นแม่แล้ว ผู้หญิงจำนวนมากจึงต้องละทิ้งความฝันทุกอย่างของตัวเอง ละทิ้งชีวิตที่อยากเป็น เพื่อสร้างเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะความสำเร็จของลูกคือความสำเร็จของแม่ด้วย
เมื่อหันกลับมาดูสถิติจากการทำงานให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมของสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ในรอบปีที่ผ่านมา ( 1 ก.ย.61 - 31 ส.ค.62) มีผู้ที่โทรมาปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมกับ 1663 ราว 30,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 24 โดยร้อยละ 87 ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเธอเหล่านี้ไม่พร้อมเป็นแม่ ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง
เมื่อพิจารณาสาเหตุความไม่พร้อมของผู้หญิงที่ท้อง พบว่า อันดับหนึ่ง คือ ความไม่พร้อมด้านครอบครัว ซึ่งมีรายละเอียดอย่างเช่น ถูกทำร้ายโดยคู่, ถูกทำร้ายโดยครอบครัว, สัมพันธภาพกับคู่ไม่ดี, แยกทางกับคู่, ตั้งครรภ์กับคนที่ไม่ใช่คู่, ฝ่ายชายมีครอบครัวแล้ว หรือแม้กระทั่งไม่มีคนช่วยเลี้ยงดูบุตร และมีบุตรเพียงพอแล้ว
ความไม่พร้อมเหล่านี้ ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ แต่ในรายที่ไม่สามารถยุติได้ เนื่องจากอายุครรภ์มากแล้ว ความช่วยเหลือทางสังคมที่พวกเธอต้องการคือบ้านพักรอคลอด และเมื่อคลอดแล้วประสงค์จะยกบุตรให้สถานสงเคราะห์หรือหาครอบครัวอุปถัมภ์ แต่เงื่อนไขของบริการที่ว่ามานี้ไม่สอดคล้องกับผู้หญิงทุกคน เช่น หากผู้หญิงที่ท้องอายุต่ำกว่า 18 ปีและต้องการจะยกบุตร จะต้องให้ผู้ปกครองมาเซ็นยินยอม ซึ่งในความเป็นจริง เด็ก 18 ผู้นี้อาจไม่ต้องการให้ผู้ปกครองรับทราบเรื่องการตั้งครรภ์ของเธอ
ขณะที่บางราย เมื่อคลอดแล้ว มีความพยายามที่จะเลี้ยงดูบุตรด้วยตัวเอง ดังนั้น สวัสดิการสังคมที่ต้องการคือสถานฝากเลี้ยงเด็กชั่วคราว เช่น ฝากเลี้ยงเฉพาะกลางวันที่ต้องไปทำงาน เย็นกลับมารับไปเลี้ยงเอง โดยที่สถานฝากเลี้ยงเด็กนั้นต้องได้มาตรฐานในการดูแล เป็นมิตร และค่าใช้จ่ายไม่แพง (หรือไม่มีค่าใช้จ่ายเลยจะดีมาก) แต่สถานฝากเลี้ยงแบบที่ว่านี้ ในบ้านเราก็ยังไม่มี หลายคนจึงต้องตัดใจยกบุตรให้เป็นสิทธิขาดของสถานสงเคราะห์ เพื่อหาครอบครัวอุปถัมภ์ ทั้งที่ไม่ได้อยากทำแบบนั้น
ในสังคมยุคปัจจุบันที่วิธีคิดเรื่องเพศก้าวไปไกลเกินกว่าจะมานิยามให้ชายหญิงต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ น่าจะดีกว่าไหมหากมนุษย์ทุกเพศจะมาหาทางช่วยกันให้เด็กที่ไม่ว่าจะเกิดมาบนความพร้อมหรือไม่ เติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับภาวะสังคมของไทยที่เด็กเกิดน้อย
ไม่ใช่ว่า อัตราการเกิดก็น้อยแล้ว ยังทำให้เด็กที่เกิดมาเติบโตแบบไม่มีคุณภาพอีก
และไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่อยู่ในกรอบ “แม่และเมียที่ดี” หรือไม่ ก็ควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในสังคม ได้รับการยอมรับ การสนับสนุนให้เท่าเทียมกับเพศอื่นๆ ไม่ใช่กีดกันจากโอกาสต่างๆ เพียงเพราะเกิดมาเป็น ‘ผู้หญิง’
*** ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองบรรณาธิการ ***