ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

ภาคประชาชนเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียน วัยรุ่นท้องต้องไม่ถูกละเมิดสิทธิ

By nuttynui 6 ต.ค 2562 10:15:53


          เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ร่วมกับภาคประชาชน ๖ จังหวัด แถลงข่าวเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ วิภาวดี ๖๔

          นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ผู้รับผิดชอบสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ๑๖๖๓ กล่าวว่า จากข้อมูลการให้บริการระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ – กันยายน ๒๕๖๑ มีผู้รับบริการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมทั้งสิ้น ๕๐,๙๒๖ ราย เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ๑๖,๔๙๗ ราย หรือร้อยละ ๓๒.๔๐ ของผู้รับบริการทั้งหมด โดย ๗,๐๙๙ ราย หรือร้อยละ ๔๓.๐๓ ของเยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปีระบุสาเหตุความไม่พร้อมว่า การตั้งครรภ์เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา 

          นายสมวงศ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องการถูกละเมิดสิทธิ พบว่า มีผู้รับบริการจำนวน ๖ รายถูกให้ออกจากสถานศึกษา ผู้รับบริการ ๒ รายถูกขอให้ลาออก จำนวน ๑ รายถูกบังคับเลือกให้ทำแท้งเพื่อแลกกับการเรียนต่อ จำนวน ๑ รายถูกพักการเรียน ขณะที่มีจำนวนอีก ๒ รายถูกให้ออกจากงานเนื่องจากการตั้งครรภ์ 

          ผู้รับผิดชอบสายด่วนฯ ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ได้เฝ้าระวังการตั้งครรภ์แม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๙ - ๒๕๖๑ ที่มารับบริการฝากครรภ์และตรวจหลังคลอดในโรงพยาบาล ๔๑๗ แห่งใน ๖๒ จังหวัด จำนวน ๙,๔๖๔ ราย พบว่า ร้อยละ ๕๑ ยังเรียนหนังสืออยู่ โดยเรียนในระบบร้อยละ ๗๔.๕ ซึ่งในจำนวนนี้ เมื่อตั้งครรภ์ในขณะเรียน มีจำนวนถึงร้อยละ ๓๗.๓ หยุดเรียน/ลาออก และร้อยละ ๑๑.๔ ต้องไปเรียนนอกระบบการศึกษา

          “แม้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.๒๕๕๙ จะให้สิทธิเด็กวัยรุ่นสามารถเรียนต่อได้ในที่เดิม หรือสถานประกอบการต้องให้บริการคำปรึกษาและส่งต่อวัยรุ่นที่ท้องเข้าสู่ระบบอนามัยเจริญพันธุ์ไม่ใช่ไล่ออกจากงาน หรือในหน่วยบริการสาธารณสุข ที่เด็กยังเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การคุมกำเนิด แม้จะเลือกได้ด้วยตัวเองก็ตาม แต่สถานการณ์ที่เราเจอบ่งบอกว่า แม้จะมี พ.ร.บ.ที่รับรองสิทธิของวัยรุ่นมาแล้ว ๓ ปี แต่ยังมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น ซึ่งตัดโอกาส เปลี่ยนอนาคตของทั้งวัยรุ่นและครอบครัว สร้างความทุกข์เป็นอย่างมาก ขณะที่ช่องทางการร้องเรียนเพื่อให้ได้รับสิทธิยังเข้าถึงได้ยาก” นายสมวงศ์ กล่าวและว่า ทางสายด่วนฯ จึงจับมือกับภาคประชาชนใน ๖ จังหวัดนำร่องเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและช่วยเหลือวัยรุ่นที่ถูกละเมิดสิทธิตาม พ.ร.บ.นี้

          ด้านนางกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง ผู้ประสานงานศูนย์รับเรื่องเรียนตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ภาคประชาสังคม จ.สตูล ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ท้องวัยรุ่นมีในทุกพื้นที่ เช่น จ.สตูล มีอัตราการคลอดของผู้หญิงอายุระหว่าง ๑๕ – ๑๙ ปีเป็นอันดับ ๒ ของเขตพื้นที่สุขภาพที่ ๑๒ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้น่าเป็นห่วง ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงต้องลุกขึ้นมาร่วมกันทำให้เยาวชนมีข้อมูล รับรู้ในการเข้าถึงสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงให้หน่วยงานในพื้นที่ตระหนักถึงการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้

          “เราพร้อมสนับสนุนและดูแลเยาวชนในพื้นที่ รวมถึงเป็นช่องทาง หรือทางเลือกหนึ่งในการรับเรื่องร้องเรียน โดยทำงานร่วมกับกรมอนามัย โรงเรียน หรือสถานประกอบการ เพราะที่ผ่านมา เราอาศัยแต่ภาครัฐในการจัดการปัญหาอย่างเดียว การที่ภาคประชาชนมาเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เพราะสามารถเข้าถึงประชาชนด้วยกันเองได้ง่าย เราพูดจาภาษาเดียวกัน มีความเป็นมิตร และให้ความไว้วางใจกับผู้ร้องได้มากกว่า เพราะเราอยู่เคียงข้างประชาชน” นางกัลยทรรศน์ กล่าว

          ทั้งนี้ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ มีเปิดในพื้นที่ ๖ จังหวัด ได้แก่ จ.สตูล ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ลพบุรี พะเยา และสุรินทร์ โดยผู้ที่ประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว สามารถโทรปรึกษาหรือร้องเรียนการถูกละเมิดสิทธิได้ดังนี้
          จ.สตูล โทร.๐๘๙ – ๖๕๘ – ๗๓๔๔
          จ.ลพบุรี โทร ๐๘๙ – ๕๓๗ – ๘๗๓๗
          จ.ฉะเชิงเทรา โทร ๐๙๗ – ๙๙๓ – ๙๐๐๐
          จ.กาญจนบุรี โทร ๐๘๐ – ๔๓๗ – ๓๓๓๗
          จ.สุรินทร์ โทร ๐๘๙ – ๗๑๙ – ๓๓๓๑
          หรือสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ๑๖๖๓ ทุกวัน ๐๙.๐๐ – ๒๑.๐๐ น.   
-->