ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663
Toggle navigation
หน้าแรก
รณรงค์รัฐสวัสดิการ
ระบบบำนาญแห่งชาติ
ประกันสังคม
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ระบบสิทธิบัตรและการเข้าถึงยา
เอดส์และท้องไม่พร้อม
1663 สายด่วนเอดส์และท้องไม่พร้อม
โครงการ เอดส์ 360
ข้อมูลเอดส์/ท้องไม่พร้อม
สื่อ/ดาวน์โหลด
สิ่งพิมพ์
คลิปวิดีโอ
หนังสั้น
เกี่ยวกับเรา
ปรัชญา/ความเชื่อ
เป้าหมาย
โครงสร้างการบริหาร
ติดต่อเรา
หน้าแรก
1663 สายด่วนเอดส์และท้องไม่พร้อม
ก้าวสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเยาวชน ตาม พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น
By nuttynui 16 ก.ค 2563 10:58:19
ธิติพร ดนตรีพงษ์
ก่อนหยุดยาวเข้าพรรษา มีการจัดประชุมคณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติขึ้นเมื่อ 3 ก.ค.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการประชุมตามวาระคือทุก 6 เดือน เพื่อติดตามสถานการณ์และความก้าวหน้าในการดำเนินงานจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำงานประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ความเห็นต่อคณะกรรมการ ซึ่งตัวแทนจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ในฐานะผู้รับผิดชอบสายด่วน 1663 และโครงการพัฒนาประสิทธิภาพระบบเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือ ติดตามคุ้มครองสิทธิ ตามพ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะดังกล่าวด้วย
ประเด็นของการประชุมครั้งนี้ มีวาระแจ้งเพื่อทราบที่สำคัญ เช่น การให้การรักษารวมถึงบริการปรึกษาเรื่องยุติการตั้งครรภ์แบบ telemedicine เพื่อช่วยให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยโดยไม่ต้องมารับบริการที่หน่วยบริการในภาวะวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ จากนโยบายล็อกดาวน์พื้นที่เพื่อป้องกันโควิด-19 ระบาดทำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หลายคนเกิดความไม่พร้อมและจำเป็นต้องยุติตั้งครรภ์ แต่ไม่สามารถเดินทางไปรับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้
นอกจากนี้ ยังมี “ก้าวสำคัญ” ในการดำเนินงานเพื่อผลักดันให้เกิดการ
คุ้มครองสิทธิวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์
หากใครติดตามข่าวสารจากเพจ 1663 จะเห็นข่าวคราว เรื่องเล่า วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ถูกละเมิดสิทธิ เช่น ถูกให้ออกจากงาน ถูกให้ออกจากการเรียน หรือถูกหน่วยบริการปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อไปยังหน่วยบริการอื่น ซึ่งสิ่งที่ 1663 พยายามทำมาตลอดคือการเปิดช่องทางให้คำปรึกษาและร้องเรียนรวมถึงลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือให้วัยรุ่นที่ถูกละเมิดสิทธิได้รับการช่วยเหลือ คุ้มครอง และเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งที่น่ายินดีจากการประชุมครั้งนี้คือ มีการเสนอ
"แนวทางการจัดการกรณีมีการร้องเรียนหรือกรณีพบว่าวัยรุ่นได้รับผลกระทบจากการที่มีหน่วยงานไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด"
เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณา
เรื่องนี้สำคัญอย่างไร?
ต้องบอกว่า พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ประกาศใช้มาแล้วเกือบ 5 ปี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามดำเนินการเพื่อ “ป้องกัน” และ “แก้ไข” ปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น แต่การแก้ไขที่ดำเนินการส่วนมากจะเป็นเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ เช่น บริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและการท้องต่ออย่างมีคุณภาพ หรือบริการทางสังคม เช่น บ้านพักรอคลอด เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
ทั้งนี้ ขาดการทำงานประเด็นสำคัญคือ “การคุ้มครองสิทธิ” วัยรุ่น เช่น หากหน่วยบริการไม่ให้บริการคุมกำเนิดหรือยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยวัยรุ่นจะไปแจ้ง/ร้องเรียนกับหน่วยงานใด ท้องแล้วถูกโรงเรียนให้ออกหรือย้ายให้ย้ายไปเรียน กศน.ทั้งที่เจ้าตัวไม่สมัครใจ วัยรุ่นจะไปร้องทุกข์ที่ไหน ทำให้ที่ผ่านมา จึงพบการละเมิดสิทธิวัยรุ่น เฉพาะที่ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1663 ในรอบปีที่ผ่านมาก็มีมากถึง 15 ราย โดย 11 รายเป็นเรื่องการศึกษา ถูกโรงเรียนให้ออกเพราะท้อง
ซึ่งไม่รู้ว่ามีอีกกี่รายที่ถูกละเมิดสิทธิและเข้าไม่ถึงบริการปรึกษา ร้องเรียน คุ้มครองสิทธิ จนต้องออกจากระบบการศึกษา ไม่ได้รับการเยียวยาหากถูกเลิกจ้าง หรือไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุข ทั้งที่มีกฎหมายระบุไว้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่า คณะกรรมการฯ มีมติ
“เห็นชอบ”
แนวทางการจัดการกรณีมีการร้องเรียนหรือกรณีพบว่าวัยรุ่นได้รับผลกระทบจากการที่มีหน่วยงานไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีผลให้ทีมเลขาฯ โดยกรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายจะต้องไปทำงานในเชิงรายละเอียดต่อ เช่น การแต่งตั้งคณะทำงานฯ ทั้งระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ 76 จังหวัด การประชาสัมพันธ์ช่องทางร้องเรียนที่วัยรุ่นเข้าถึงง่าย การลงรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานเมื่อมีวัยรุ่นร้องเรียน และกรอบเวลาในการจัดการปัญหาที่ได้รับร้องเรียนมา
ข้อเสนอสำคัญเพื่อให้กลไกการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การใช้กลไกพื้นที่ซึ่งมี “
ภาคประชาสังคม”
เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากมีบทเรียนจากการทำงานว่า เป็นหน่วยงานที่วัยรุ่นเข้าถึงง่ายและเป็นตัวกลางในการเจรจา ไกล่เกลี่ย กับหน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นหน่วยงานที่ละเมิดสิทธิวัยรุ่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก้าวแรกได้เริ่มขึ้นแล้ว หลังจากนี้ ก้าวที่สอง สาม สี่ ห้า กำลังจะตามมา ระหว่างรอให้กลไกดังกล่าวเกิดขึ้น ช่วงนี้ หากวัยรุ่นถูกละเมิดสิทธิเพราะตั้งครรภ์โทรปรึกษาและร้องเรียนได้ที่ 1663
ทุกเรื่องราวการละเมิดสิทธิคือต้นทุนสำคัญในการผลักดันให้เกิดกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิที่มีประสิทธิภาพ เหมือนดังคำกล่าว
“ร้องเรียน
1 ครั้งดีกว่าบ่นพันครั้ง”
*** ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองบรรณาธิการ ***
-->
X
เข้าสู่ระบบ
ชื่อผู้ใช้งาน
รหัสผ่าน
X
เข้าสู่ระบบ
ชื่อผู้ใช้งาน