ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

องค์กรภาคประชาสังคมในหลายประเทศทั่วโลกร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ของไทย เรื่องผลกระทบด้านลบของความตกลง CPTPP

By nuttynui 6 ส.ค 2563 11:05:42

องค์กรภาคประชาสังคมในหลายประเทศทั่วโลกร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ของไทย แสดงความกังวลในเรื่องผลกระทบด้านลบของความตกลง CPTPP ในเรื่องการเข้าถึงยาจำเป็นในราคาไม่แพง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องการลงนาม

ประเด็นสำคัญที่ไทยไม่ควรเข้าร่วม CPTPP ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมเกือบ 50 องค์กรจาก 23 ประเทศแสดงความห่วงกังวล คือ

1. ความเป็นไปได้ที่การใช้มาตรการซีแอลจะใช้ได้ไม่เหมือนเดิมและอาจถูกท้าทายโดยการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการนอกประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงระหว่างบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน และการระงับข้อพิพาท แม้ว่าในบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุน จะระบุไว้ว่าประเทศสมาชิกยังสามารถนำมาตรการซีแอลมาใช้ได้ หากสอดคล้องกับ CPTPP และความตกลง TRIPs ขององค์การการค้าโลก และยังระบุไว้อีกว่ามาตรการเพื่อปกป้องการสาธารณสุขไม่ถือว่าเป็นการยืดทรัพย์ทางอ้อม ซึ่งเป็นเหตุให้ฟ้องร้องได้ ยกเว้นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก

การระบุไว้เช่นนี้เป็นการเปิดช่องให้ตีความว่าการประกาศใช้มาตรการซีแอลอาจไม่สอดคล้องกับ CPTPP และความตกลง TRIPs หรือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก และอาจกลายเป็นเหตุผลใช้ฟ้องร้องรัฐบาลให้ล้มเลิกมาตรการซีแอล และเรียกร้องความเสียหายจำนวนมากได้ ทั้งนี้ อาจรวมถึงการยกคำขอรับสิทธิบัตรยาและการถอดสิทธิบัตรยา หากสำนักสิทธิบัตรเห็นว่าไม่ควรได้รับการคุ้มครองด้วย

ข้อกำหนดเช่นนี้จะมีผลทำให้ผู้กำหนดนโยบายลังเลไม่กล้าตัดสินใจนำมาตรการซีแอลมาให้ เนื่องจากเสี่ยงถูกฟ้อง ไม่ใช่เพียงให้ยกเลิกนโยบาย แต่ยังต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมหาศาล หากแพ้คดี ซึ่งในการสู้คดี ค่าจ้างทนายสู้คดีความก็เป็นค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยด้วยเข่นกัน

2. การทำให้ยาชื่อสามัญขึ้นทะเบียนยาเพื่อจำหนายได้ยากขึ้นเนื่องจากมาตรการ Patent Linkage ใน CPTPP เพราะหน่วยที่รับขึ้นทะเบียนยา (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)) จะไม่สามารถอนุมัตให้ทะบียนยากับยาชื่อสามัญที่มายื่นขึ้นทะเบียนยา ถ้ามียาชนิดเดียวมาขึ้นทะเบียนยาไว้แล้วและมีสิทธิบัตร ยกเว้นแต่เจ้าของสิทธิบัตรยานั้นจะอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยาได้ หรือ อ.ย.จะต้องแจ้งหรือประกาศให้เจ้าของสิทธิบัตรยารู้ว่ามีบริษัทยาอื่นมายื่นขอขึ้นทะเบียนยาชนิดเดียกับของเจ้าของสิทธิบัตรยา และต้องเปิดโอกาสให้เจ้าของสิทธิบัตรยานั้นไปเจรจาหรือดำเนินการกับบริษัทยาอีกบริษัทที่มาขอขึ้นทะเบียนยาจนเป็นพอใจ รวมถึงการให้มีจ่ายค่าชดเชยก่อน ทั้งๆ ที่ในที่สุดแล้ว ยาของอีกบริษัทที่มายื่นขอขึ้นทะเบียนอาจไม่ได้ละเมิดสิทธิบัตร แต่บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรอาศัยข้อกำหนดแบบ Patent Linkage นี้มาสกัดกั้นไม่ให้ยาของบริษัทอื่น ที่ผลิตยาตัวเดียวกันและอาจไม่ได้ละเมิดสิทธิบัตร ขึ้นทะเบียนยาและขายแข่งได้ จึงทำให้มียาคู่แข่งที่เป็นทางเลือกที่ราคาถูกออกมาแข่งในตลาดไม่ได้

ทั้งนี้ ระบบในปัจจุบันของไทยและในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ไม่ได้เป็นแบบนั้น อ.ย. มีหน้าที่เพียงดูแลตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลของยา ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ต้องดูแลในเรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูแลคุ้มครองประโยชน์การค้าของเจ้าของสิทธิบัตร และเจ้าของสิทธิบัตรสามารถฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญา หากคิดว่าผู้อื่นละเมิสิทธิบัตรของตนและเรียกร้องค่าเสียหายได้อยู่แล้ว

3. ในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของ CPTPP ประเทศสมาชิกต้องยกเลิกการใช้สิทธิพิเศษแก่อุตสาหกรรมภายในประเทศและ/หรือรัฐวิสาหกิจ ในกรณีของยา ไทยต้องยกเลิกมาตรการพิเศษที่ให้แก่องค์การเภสัชกรรม หรืออุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศในเรื่องยาบัญชีนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและศักยภาพของอุตสาหกรรมภายในประเทศ การยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศอ่อนแอลง และต้องพึ่งพิงยาที่นำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต้มต่อต่างๆ ที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในประเทศต้องถูกยกเลิก โดยอ้างเรื่องการแข่งขันที่เท่าเทียม

หากมองปรากฎการณ์โควิด-19 หรือวิกฤตการเข้าถึงยาที่ผ่านมาในอดีต เราจะเห็นได้ว่าองค์การเภสัชกรรมและอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์มาได้หลายครั้ง การยอมรับเงื่อนไขใน CPTPP เช่นนี้จะมีผลต่อความมั่นคงทางยาและการเข้าถึงยาของประชาชน และต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้ง 3 ระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะทำให้ยาจำเป็นมีราคาสูงขึ้น เพราะต้องพึ่งพิงยานำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก

4. ข้อบท 22 ประเด็นที่ชะลอไว้ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงยา อาจถูกนำกลับมาเจรจาใหม่ได้ เพราะเป็นเพียงการชะลอไว้เท่านั้น ไม่ได้ยกเลิก ถ้าสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศ และต้องการกลับมาร่วม CPTPP จึงมีความเป็นไปได้ที่ข้อบทที่ชะลออาจนำกลับมารื้อฟื้นเจรจาได้

5. ผลกระทบของ CPTPP ต่อการปฏิบัติการเรื่องโควิด-19 ข้อกำหนดในบทว่าการลงทุนและการระงับข้อผิดพลาดใน CPTPP อาจกลายเป็นอุปสรรคให้ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ไม่สามารถมีหรือบังคับใช้มาตรการต่างๆ ทั้งในเรื่องสาธารณสุขและเศรษฐกิจ เพื่อรับมือและจัดการกับปัญหาโรคระบาดอย่าง COVID-19 ได้ เพราะอาจถูกโดยฟ้องร้องโดยนักลงทุนต่างชาติต่ออนุญาโตตุลาการ เรียกร้องค่าเสียหายจำนวนมหาศาล โดยอ้างว่าผลประกอบเสียหายจากมาตรการหรือนโยบายของรัฐในการจัดการกับปัญหาโควิด-19

6. ผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ในไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย ที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วนงานสำคัญที่ค้ำจุนความมั่นคงทางยาของประเทศไทยไว้ เป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการวิจัยและผลิตยาชื่อสามัญใหม่ๆ ในกรณีของโควิด-19 องค์การเภสัชกรรมจะกลายเป็นแหล่งผลิตยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ที่สำคัญอีกแห่งให้กับภูมิภาค เพราะโควิด-19 เป็นวิกฤตใหญ่ระดับโลกและต้องอาศัยแหล่งวิจัยและผลิตยาที่กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ไม่สามารถอาศัยหรือพึ่งพาแต่เพียงแหล่งผลิตเพียงไม่กี่แห่งได้ ดังนั้น องค์การเภสัชกรรมจึงมีความจำเป็นและต้องดำรงอยู่เพื่อสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศไทยและภูมิภาคด้วย ซึ่งการดำรงอยู่ขององค์การเภสัชกรรมอาจถูกสั่นคลอนและทำลายลงได้ เพราะข้อผูกมัดใน CPTPP ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซีแอล การลงทุน การระงับข้อพิพาท Patent Linkage และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ


https://makemedicinesaffordable.org/cptpp-global-civil-society-writes-to-thai-prime-minister-trade-agreement-risks-access-to-treatment-to-treatment-is-at-risk


 

-->