ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

ชีวิต ‘โรแมนติก’ มีแค่ในละคร?

By nuttynui 14 ก.ย 2563 16:09:56
พรรณอุมา สีหะจันทร์
 
วันก่อนผู้เขียนได้ดูโทรทัศน์รายการหนึ่ง สัมภาษณ์ชีวิตครอบครัวของคู่รักดารา ภาพที่เราเห็นในทีวีคือภาพครอบครัวแบบ “ในฝัน” มีลูก มีสามี ภรรยาที่รักกัน อยู่อาศัยกันในบ้านหลังสวยอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มีการวาดภาพอนาคต ให้ลูกได้เลือกทำอย่างที่ใจหวัง ไม่บีบบังคับ อยากเรียนอะไรก็ได้เรียน

ผู้เขียนดูไปก็คล้อย และเคลิ้มตามภาพชีวิตสุดแสน “โรแมนติก” ที่ฉายอยู่ในทีวี คิดฝันว่าเราจะมีวันนั้นบ้างไหม พลันรายการจบลง ห้วงคะนึงของความคิดก็กลับสู่ความจริง หลังส่งข้อความไปบอกเพื่อนว่าอิจฉาดาราในทีวี กับข้อความที่เพื่อนตอบกลับมาว่า “ตอนนี้ต้องทำงานพร้อมกันสองอย่าง เพราะไม่พอกิน”

ห้วงแห่งความฝันจบลง กับความจริงที่ว่า ชีวิตโรแมนติก มีไว้สำหรับบางคนเท่านั้น ขณะที่ คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้อาจมีเวลาโรแมนติก หรือช่วงเวลาแห่งความเพ้อฝัน เฉพาะชั่วเวลาที่ได้ดู “ละคร”

ชีวิตจริงคือ คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต้องทำงานหนัก หาเช้ากินค่ำ เงินเก็บออมแทบไม่มี หากเขาจะมีลูกมีครอบครัว คงมีไม่มากนักที่จะได้มีชีวิตตามฝัน แบบที่ว่ามีเวลาเลี้ยงดูลูก (ด้วยตัวเอง) ให้เหมาะสมกับพัฒนาการ โตมาก็ได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ เลือกเป็นเลือกใช้ชีวิตได้แบบที่อยากเป็น

ภาพความจริงของสังคมที่สะท้อนคือ พ่อแม่ส่วนใหญ่ส่งลูกกลับไปให้ปู่ย่าตายายดูแล ตัวเองทำงานเช้ายันค่ำ คุณภาพชีวิตที่เหมือนเครื่องจักร ตื่นเช้าทำงาน หาเงินส่งกลับไปที่บ้าน เลี้ยงดูลูกตามแต่ที่จะเป็นไป และอยู่ได้ด้วยเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยามชรา คือ ถึงแม้จะทำงานหนักอย่างไร ก็ไม่อาจทำให้เขาลืมตาอ้าปากขึ้น

เพราะสังคมนี้เต็มไปด้วยความ “เหลื่อมล้ำ”

หลายคนเข้าไม่ถึงโอกาส จากปัญหาโครงสร้างทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการกระจุกตัวของคุณภาพการศึกษา สาธารณูปโภค รถโดยสารสาธารณะ ถนนหนทาง การไม่มีรัฐสวัสดิการด้านต่างๆ ส่งผลต่อการมีชีวิตอันแสนโรแมนติกของผู้คนได้ทั้งนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมี “ราคา” ที่ต้องจ่าย หากลูกชาวนาฝันอยากขับเครื่องบิน ถามว่า เขาต้องไปเรียนที่ไหน? หรือจริงแล้ว เขาอาจได้แค่ฝัน ถ้าชีวิตจริงคือ พ่อแม่ต้องกู้ กยศ.เพื่อให้ลูกได้เรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ?

สอดคล้องกับตัวเลขรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี ๒๕๕๕ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนโดยเฉลี่ยมีอัตราการส่งลูกเข้าเรียนระดับมัธยมปลาย หรือ ปวช.ร้อยละ ๕๕ พอถึงระดับชั้นปริญญาตรี หรือ ปวส.ลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๒๙

ลองพิจารณาดูว่า คนเหล่านี้จะเป็นอย่างไร เมื่อโอกาสทางการศึกษาของเขายังเข้าไม่ถึง โอกาสที่เขาจะได้ทำงาน หรือประกอบอาชีพที่มีรายได้สูง อันสัมพันธ์กับวุฒิการศึกษาจะเป็นไปได้ไหม?

ขณะเดียวกัน จากตัวเลขในรอบ ๖ เดือนของสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ๑๖๖๓ ตั้งแต่เดือนมีนาคม - สิงหาคม ๒๕๖๓ มีผู้รับบริการมากกว่า ๑๗,๑๘๓ ราย ที่เมื่อท้องแล้วประสบปัญหา “ไม่พร้อม” โดยกว่าหมื่นราย หรือร้อยละ ๘๘.๒๙ ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ เพราะเขาไม่สามารถเลี้ยงดูลูกอีกคนหนึ่งได้ จากปัญหาทางครอบครัว ปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น การแยกทางกับคู่ ไม่มีงานทำ รายได้ไม่พอเลี้ยงดูลูก หรือตกงานจากพิษโควิด - ๑๙

จะแปลกอย่างไร ถ้าเขาท้องแล้วตัดสินใจเลือกทำแท้ง หากบ้านเมืองนี้ ไม่มีระบบ “สวัสดิการ” ที่คอยรองรับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ระบบการศึกษาที่ฟรีและมีคุณภาพ การประกันการว่างงาน บำนาญยามชราภาพ ในเมื่อชีวิตจริง คนเหล่านี้ต้อง “ปากกัดตีนถีบ” ด้วยตัวเอง ให้หลุดพ้นจากความยากจนในแต่ละวัน

การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชีวิตแบบในฝันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อโครงสร้างสังคมไม่ได้เอื้อให้คนเหล่านี้ลืมตาอ้าปากได้จริง

หรือชีวิตโรแมนติก คงเป็นเพียงแค่ฝัน ของเรา...






*** ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองบรรณาธิการ ***
-->