ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

โลกเปลี่ยนไป “ผู้ใหญ่” ต้องเคารพในสิทธิมนุษยชน (ของเด็ก)

By nuttynui 29 ก.ย 2563 12:21:26
ธิติพร ดนตรีพงษ์
 
          จั่วหัวเหมือนเรื่องการเมือง แต่ผู้เขียนยังอยู่ที่ประเด็น “เด็กท้อง”  เหมือนเดิม ไม่ใช่ไม่ไปไหนมาไหน แต่เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียง แลกเปลี่ยน หยิบมาคุยกันเป็นระยะๆ  เพราะลึกๆ แล้วถึงแม้มีกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ให้สิทธิเด็กท้องได้เรียนตามปกติ แต่กลับพบว่า การเรียนจะไม่ “ปกติ” หากบุคลากรในโรงเรียนยังมีทัศนคติว่า เด็กท้องคือเด็กที่ทำผิด ต้องให้การเรียนรู้ด้วยการลงโทษ จะเรียนปกติได้อย่างไร เพื่อนจะเห็นเป็นไอดอลไหม และอีกสารพัดวิธีคิด...ที่มีรากมาจาก “เรื่องเพศ”

          ผู้เขียนมีโอกาสคุยกับผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งมีนักเรียนท้อง ๓ ราย ในระยะเวลาเดียวกัน ประเพณีปฏิบัติของโรงเรียนคือ เมื่อเด็กทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็จะลาออก บ้างก็ไปเรียน กศน. บ้างก็ไม่เรียน ไปสร้างครอบครัวของตัวเอง

          แต่สมัยนี้เปลี่ยนไป เมื่อเด็กเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น การสืบค้นข้อมูลต่างๆ เป็นไปอย่างง่ายดาย เด็กรู้ว่าเมื่อตัวเองท้องไม่จำเป็นต้องทำตามประเพณีปฏิบัติ เนื่องจากมีกฎหมายให้สิทธิเรียนต่อได้โดยที่โรงเรียนต้องจัดระบบการศึกษาที่เอื้ออำนวยให้เรียนได้ในขณะที่ตั้งครรภ์

          ถามว่าดีไหม? ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนเห็นว่า เด็กควรมีโอกาสได้เรียนหนังสือไม่ว่าจะท้องหรือไม่ก็ตาม เพราะการเรียนคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่แน่นอนว่า มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในโรงเรียน เนื่องจากครูหลายคนที่คุ้นกับ “ประเพณีปฏิบัติ” ก็จะรู้สึกว่า ไม่เหมาะสมที่จะมีเด็กท้องมาเรียนในโรงเรียน สิ่งที่ผู้บริหารทำได้คือกางกฎหมายแล้วบอกครูว่า กฎหมายออกมาแล้วต้องปฏิบัติตาม และศักดิ์ของกฎหมายใหญ่กว่ากฎระเบียบหรือประเพณีปฏิบัติใดๆ ของโรงเรียน 

          ท้ายที่สุด เมื่ออ้างกฎหมาย ไม่มีใครปฏิเสธที่จะไม่ปฏิบัติตามได้ แต่ลึกลงไปกว่านั้น จะทำอย่างไรให้คนปฏิบัติด้วยความเข้าใจมากกว่ายอมจำนน เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายคือการเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนๆ หนึ่งจะได้เข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะมีสถานะใด

          คำกล่าวข้างต้นสำคัญมาก ในทัศนะของผู้เขียนมองว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ยังขาดความเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐาน เรายังเห็นการละเมิดในเนื้อตัวร่างกายของคู่สามีภรรยาบนคติแบบไทยๆ ว่า “เรื่องของผัวเมีย” เห็นการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกัน เพียงเพราะคนๆ  นั้นเป็นเกย์ กะเทย  ไม่ใช่เพศตามกรอบของสังคม หรือง่ายที่สุดในโรงเรียน เราก็ยังเห็นข่าวการทำโทษนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตี การบังคับเรื่องทรงผม เครื่องแบบนักเรียน เหล่านี้ เป็นต้น

          “โลกมันเปลี่ยนไป”  ผู้บริหารโรงเรียนกล่าวอย่างเข้าใจ แต่จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ไม่เฉพาะแต่เรื่องเทคโนโลยี แต่ยังหมายรวมถึงวิธีคิดและค่านิยมที่เป็นมาตรฐานกลางบนฐานสิทธิมนุษยชน หากเรายังตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ไม่เพียงแต่ความล้าหลังจะเกิดขึ้นเท่านั้น


          แต่ “ความขัดแย้ง”  ก็จะเกิดขึ้นด้วย





*** ความคิดเห็นของผู้เขียนอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองบรรณาธิการ ***
-->