ถาม - ตอบเรื่องสิทธิประโยชนในการยุติการตั้งครรภ์ กับ นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์แฟนเพจ ๑๖๖๓ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ที่ผ่านมา
Q: ไปรับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ที่ไหนบ้าง?
A: บริการยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิประโยชน์ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขฉบับที่ ๑๐ ซึ่งประกาศใช้เมื่อ ๗ เมษายน ๒๕๕๙ ถ้าเป็นสิทธิประโยชน์แล้ว หน่วยบริการระดับโรงพยาบาล ซึ่งมีแพทย์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถที่จะทำได้ แต่ประเด็นคือว่าแพทย์จำนวนมากอาจมีความรู้สึกว่าไม่ถูกกฎหมาย แต่ก็มีการปรับแก้กฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ ซึ่งความกังวลของหมอในเรื่องจริยธรรม ทางกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ดูแลพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.๒๕๕๙ จะต้องดำเนินการเรื่องนี้
ล่าสุดมีประกาศกฎกระทรวงให้หน่วยบริการต่างๆ ดำเนินการ โดยจะบอกว่าสถานบริการที่มีบริการอนามัยเจริญพันธุ์ และไม่มีจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยหลักการคุณหมอทำได้อยู่แล้ว แต่ยังติดข้อกฎหมาย ปัญหาจริยธรรม เลยทำให้มีหน่วยบริการที่ให้บริการในเรื่องนี้ประมาณ ๘๐ - ๙๐ แห่ง ยังไม่กระจายไปทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้ เริ่มมีหน่วยบริการใหม่ๆ เข้ามาให้บริการ แต่โดยหลักการควรทำได้ทุกแห่งที่มีแพทย์
Q: ถ้าผู้รับบริการไปยุติการตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลที่ไม่มีหมอทำให้ สามารถไปรับบริการที่อื่น โดยไม่ต้องมีใบส่งตัวได้ไหม?
A: ตามประกาศของกฎกระทรวงเมื่อ ๒๕ มกราคม กำหนดไว้ว่าสถานบริการมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลและไม่โน้มน้าวให้ผู้รับบริการไปทำด้านใดด้านหนึ่ง ให้เขาตัดสินใจ แล้วถ้าหากผู้รับบริการต้องการยุติการตั้งครรภ์ หน่วยบริการที่ไม่มีบริการอนามัยเจริญพันธุ์จะต้องแนะนำติดต่อไปยังอีกที่หนึ่งที่มีบริการ คือเป็นหน้าที่ ต้องให้คำแนะนำช่วยเหลือโดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เอื้ออำนวยความสะดวก
Q: หากไม่มีสิทธิขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่ให้การยุติการตั้งครรภ์ ผู้รับบริการสามารถเข้าไปรับบริการได้ด้วยตัวเองหรือไม่?
A: ไม่จำเป็นต้องมีใบส่งตัว สปสช.อำนวยความสะดวกให้ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่าย สปสช.ออกแบบการจ่ายรายการเฉพาะ เป็น fee schedule เช่น โรงพยาบาลตามสิทธิของผู้รับบริการไม่มีให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ แนะนำให้ไปอีกแห่งหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องมีใบส่งตัว สามารถไปได้เลยนอกอำเภอ นอกจังหวัด เพื่อที่จะได้ไม่รู้สึกถูกตีตรา
Q: หากไปยุติการตั้งครรภ์แล้วถูกเรียกเก็บเงิน มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ร่วมบริจาค บังคับบริจาค ต้องทำอย่างไร?
A: ผู้รับบริการไม่ให้ก็ได้อยู่แล้ว แต่อาจกังวล สิ่งที่ สปสช.จ่าย ก็ดูว่าจะจ่ายด้วยราคาเท่าไหร่ที่จ่ายได้ เป็นค่าเฉลี่ย บางทีผู้รับบริการไปแต่เนิ่นๆ อายุครรภ์ไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์ ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพง ถ้าไปช้าหน่วยบริการก็อาจจะคิดแพงขึ้น เพราะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ถ้าหากว่ามีผู้รับบริการอายุครรภ์ ๑๒ สัปดาห์มากขึ้น ก็จำเป็นต้องหาข้อมูล แล้วมาปรับปรุงราคากัน ก็มีช่องทางให้เสนอปรับปรุงราคาได้
Q: ไปยุติการตั้งครรภ์ สำหรับคนที่มีอายุเกิน ๑๕ ปีขึ้นไป แต่โรงพยาบาลบางแห่งขอให้มีผู้ปกครองเซ็นยินยอมก่อน จะแก้ไขอย่างไร?
A: ต้องให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้สื่อสารทำความเข้าใจกับหน่วยบริการว่า ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นฯ ผู้รับบริการที่อายุ ๑๕ ปีขึ้นไปสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีเฉพาะกรณีการยุติการตั้งครรภ์ต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอม นอกนั้นสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
Q: การคุมกำเนิด ฝังยาคุม ใส่ห่วงสามารถรับบริการได้เลยไหม โดยไม่ต้องยุติการตั้งครรภ์?
A: โดยทั่วไป เป็นสิทธิประโยชน์ ผู้รับบริการมีสิทธิได้รับบริการวางแผนครอบครัวโดยการปรึกษาหารือกับผู้ให้บริการ แต่การยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ สปสช.จะดึงออกมาในรายการเฉพาะ จึงจ่ายเฉพาะกรณีการยุติการตั้งครรภ์ที่จะฝังยา และใส่ห่วงอนามัย เพื่อให้เกิดสิทธิได้จริง ขณะที่ สิทธิของคนทั่วไปมีอยู่แล้วฝนลบเหมาจ่ายรายหัว โดยหญิงวัยเจริญพันธุ์มีสิทธิได้รับบริการวางแผนครอบครัว คุมกำเนิดโดยวิธีการใดต้องหารือกับผู้ให้บริการ และต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการประจำ
Q: กรณีผู้รับบริการมีปัญหาสุขภาพ เช่น พบว่าเด็กในท้องมีภาวะดาวน์ซินโดรม ธาลัสซีเมีย หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ แล้วจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ หากโรงพยาบาลตามสิทธิไม่ให้บริการ จะทำอย่างไรให้เข้าถึงการรักษาได้?
A: ในหลักการ และตามกฎหมาย กรณีที่ถูกข่มขืนมาแล้วหน่วยบริการที่ให้การดูแลต้องทำให้ จะอ้างจริยธรรมไม่ได้ ถ้าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถทำได้เลยจะมาโต้แย้งไม่ได้ กรณีพิการอาจจะยังก้ำกึ่งอยู่ แต่ในทางปฏิบัติขณะนี้ตกลงกันในการจัดบริการ ซึ่งหน่วยบริการส่วนใหญ่เป็นของกระทรวงสาธารณสุข กรณีเป็นดาวน์ซินโดรม ธาลัสซีเมีย หน่วยบริการประจำของผู้รับบริการจะต้องให้การดูแลการยุติการตั้งครรภ์ โดยหน่วยบริการในแต่ละเขตจะตกลงกันว่าหน่วยไหนเป็นเจ้าภาพ เป็นผู้ยุติการตั้งครรภ์ หากไม่พร้อมจะต้องจัดเครือข่ายแล้วไปตามเครือข่ายโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว และ สปสช.จะจ่ายให้เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกันในกรณีดาวน์ซินโดรม และธาลัสซีเมีย
ส่วนการตั้งครรภ์วัยรุ่น หรือตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
Q: หน่วยบริการที่จะให้บริการยุติการตั้งครรภ์จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัย ใช่หรือไม่ สปสช.ถึงจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล?
A: เพื่อให้การรักษาเป็นมาตรฐาน จึงต้องให้ขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัย และสะดวกกับ สปสช.ในการเบิกจ่าย หากไม่ลงทะเบียนแล้วเบิกเข้ามา ก็จะกังวลว่า มีผู้รับบริการจริงหรือไม่ เรากำหนดไว้ว่าต้องขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัยก่อน เพราะกรมอนามัยจะคอยช่วยมอนิเตอร์ เนื่องจากคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ยังให้กรมอนามัยคอยติดตามการใช้ยาอยู่ ยังไม่ได้เป็นการใช้ยาโดยทั่วไป
ส่วนกรณีใช้เครื่องมือ ก็ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัย เพราะ สปสช.จ่ายราคาเท่ากัน
Q: ค่าอัลตราซาวด์รวมใน ๓,๐๐๐ บาท ที่ สปสช.จ่ายให้หรือไม่?
A: ขณะนี้ สปสช.จ่ายค่าตรวจอัลตราซาวด์เป็นการเฉพาะ สามารถเบิกจาก สปสช.ได้ สำหรับการฝากท้องครั้งแรก แต่กรณียุติการตั้งครรภ์ ก็ถือว่าท้อง ท้องก็สามารถอัลตราซาวด์ได้ โดยจ่าย ๔๐๐ บาท กำหนดไว้ในสิทธิประโยชน์ว่าอย่างน้อย ๑ ครั้ง ถ้าจำเป็นมากกว่านี้ก็สามารถเบิกได้ แต่ว่าขอเป็นความจำเป็นจริงๆ
Q: หากยุติแล้วได้รับผลกระทบ โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาต่อเนื่องได้หรือไม่?
A: ถ้าทำแล้วแท้งไม่สมบูรณ์ กลับไปก็รับบริการที่หน่วยประจำได้ ถือเป็นการรักษาที่ต้องดูแล โดยทางปฏิบัติ หมอที่ให้การยุติการตั้งครรภ์จะติดต่อกับผู้รับบริการทางโทรศัพท์อยู่แล้ว หากแท้งไม่สมบูรณ์จะกลับไปหาหมอที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ก็ได้ แต่หากไม่สะดวก ก็ไปที่หน่วยบริการประจำ หรือหากตกเลือด มีไข้สูง ฉุกเฉินก็ใช้สิทธิตามมาตรา ๗ ได้อยู่แล้ว ถ้าเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าเป็นสิทธิอื่นอาจจะมีปัญหานิดหนึ่ง
และหากกรมอนามัยจัดระบบได้ดี เขาจะประสานงานระหว่างหน่วยบริการประจำกับหน่วยบริการที่ให้การยุติการตั้งครรภ์ได้