ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

‘รัฐสวัสดิการ’ : ราคาความเป็นไปได้ของคนทุกรุ่น

By nuttynui 3 ธ.ค 2563 12:14:38
กองบรรณาธิการเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

 
            ถ้าพูดคำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ ความคิดแรกๆ ที่คุณจะนึกถึงคืออะไร?

            มีความเป็นไปได้หลายอย่าง-คนจน คนแก่ เรียนฟรี รักษาฟรี แต่ความคิดที่มักหายไปในช่องว่างคือคนรุ่นใหม่
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นล่ะ? อาจเป็นเพราะเราคิดว่าวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่มีผู้ปกครองดูแล ไม่ต้องทำงานหาเงิน ไม่มีภาระให้แบกหาม ไม่ได้ทำงานเสียภาษี ยังมีเวลาและโอกาสอีกมากมายที่จะประสบความสำเร็จ แต่ทั้งหมดนี้เป็นมายาคติ เป็นความเชื่อ ซึ่งคนรุ่นใหม่กับรัฐสวัสดิการ หรืออันที่จริงก็คนทุกคนในประเทศนี้นั่นแหละ เชื่อมโยงกับเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างใกล้ชิด

            แม้โอกาสอาจมีอยู่ก่อน แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคนอย่างแน่นอน รัฐสวัสดิการต่างหากคือโอกาส คือชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในแบบที่สังคมคาดหวัง คือความเป็นไปได้มากมายในชีวิต และคนรุ่นใหม่ คนรุ่นที่เป็นอนาคตของประเทศ พวกเขามองรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องใกล้ตัว
 
รอยรั่วของความเหลื่อมล้ำ

            “คนๆ หนึ่งเกิดมา ถ้าเขาเกิดมาในครอบครัวยากจน พ่อแม่ของเขาต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่อีกคนถ้าเขาเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย พ่อแม่ของเขาอาจจะไม่ต้องทำงานหนักมากและเขาก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เมื่อถึงวัยเรียน เด็กคนแรกอาจจะได้เรียนในโรงเรียนที่ตนเองไม่มีโอกาสเลือกมากนัก แต่เด็กอีกคนหนึ่งมีโอกาสเลือกที่จะเรียน เลือกสาขา เลือกอะไรหลายๆ อย่างที่ตัวเองอยากทำ ถึงตอนทำงานเด็กคนแรกต้องไปเป็นแรงงาน อาจถูกบีบให้เข้าระบบอุตสาหกรรม ถูกบีบให้ทำบางสิ่งบางอย่าง แต่เด็กอีกคนหนึ่งเขาสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เปิดธุรกิจใหม่ๆ ลองทำอะไรที่ตัวเองไม่เคยทำ เมื่อถึงตอนป่วยเด็กคนแรกอาจจะต้องใช้สวัสดิการของรัฐที่อาจจะมีปัญหาบกพร่องอยู่บ้าง ในขณะเดียวกันเด็กอีกคนหนึ่งเขาอาจสามารถรักษาโดยไม่ต้องกังวล นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น”

            ชนินทร์ วงศ์ศรี นักกิจกรรมรุ่นใหม่ด้านรัฐสวัสดิการจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อธิบายความเหลื่อมล้ำออกมาเป็นภาพ เขายังขยายความให้คมชัดขึ้นอีกว่า บัญชีที่มีเงินต่ำกว่า 5 แสนบาทในประเทศนี้มีทั้งหมด 99 ล้านบัญชี คิดเป็นเงิน 2 ล้านล้านบาทที่ถูกแช่เอาไว้ในธนาคาร หากธนาคารนำไปปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นายทุนธนาคารจะได้เงิน 1 แสนล้านบาท ขณะที่ประชาชนต้องทำงานกันสายตัวแทบขาด

            “ผมอยากรู้จริงๆ ว่าคนที่ได้ค่าแรงวันละ 300 บาทหรือ 15,000 ถึง 20,000 บาทต่อเดือนจะให้เขาเอาเงินตรงไหนไปประหยัดอดออมอย่างที่ชนชั้นนำไทยชอบบอกมาตลอด ในเมื่อการศึกษา ขนส่งสาธารณะ ค่ารักษาพยาบาลยังมีค่าใช้จ่ายสูง แค่ค่าใช้จ่ายประจำวันยังไม่พอ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไทยต้องขาดโอกาสทำในสิ่งที่อยากทำ ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง ขาดโอกาสที่จะทำหลายสิ่งหลายอย่าง”
 
รัฐสวัสดิการและการปลดพันธนาการ

            รัฐสวัสดิการจะเข้ามาอุดรอยรั่วเหล่านี้ มันจะยกมาตรฐานคุณภาพชีวิตของผู้คน ลดภาระค่าใช้จ่าย และโอกาส

            พอพูดถึงรัฐสวัสดิการมักถูกถามว่า แล้วจะเอาเงินจากไหน ชนินทร์เสนอให้ปฏิรูปภาษีและเก็บภาษีทรัพย์สิน ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า รัฐสวัสดิการต้องมาจากรัฐบาลที่ชอบธรรม ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการที่ตรวจสอบไม่ได้

            “งบซื้อเรือดำน้ำ 30,000 กว่าล้านสามารถสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่ขอนแก่นได้ 1 เส้น นี่คือสิ่งที่คนไทยเสียโอกาสไปจากรัฐบาลเผด็จการ”

            “ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการ เราจะมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มรูปแบบ เราจะหลุดออกจากโซ่พันธนาการหลายสิ่งหลายอย่าง สิ่งที่เราเรียกร้องมาตลอดเวลาก็คือเราต้องการนโยบายเรียนฟรี เราต้องการระบบบำนาญเพื่อให้คนแก่ได้อยู่อย่างปลอดภัย ให้คนหนุ่มสาวทำงานโดยที่ไม่ต้องกังวล เราต้องการเงินเด็กถ้วนหน้าเพื่อให้เด็กทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราต้องการระบบขนส่งสาธารณะที่ทั่วถึงและมีราคาที่เป็นมิตรกับประชาชน เราต้องการรัฐสวัสดิการ”
 
ความฝันราคาแพง

            ลดสเกลลงมาให้ใกล้กับชีวิตของคนรุ่นใหม่ขึ้นอีกนิด รัฐสวัสดิการเป็นกุญแจไขประตูแห่งโอกาสให้เปิดออก เพียงดาว
โอสถาภิรัตน์ เยาวชนอาสาจากกลุ่มรักยิ้ม เล่าเรื่องราวช่วง ม.6 ว่า เวลาถูกถามว่าอยากทำอาชีพอะไร เพื่อนๆ ของเธอเลือกตอบอาชีพที่ ‘ต้อง’ เป็น มากกว่าอาชีพที่ ‘อยาก’ เป็น ทั้งที่เพื่อนของเธอหลายคนมีความฝัน ความฝันที่โคตรเท่ ความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้น่าอยู่กว่าเดิม

            แต่มันเป็นไปไม่ได้ พวกเขาต้องเลือกอาชีพที่ทำเงินได้มากๆ หรือเป็นข้าราชการที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลครอบคลุมถึงพ่อแม่ มีบำนาญยามเกษียณ

            “สังคมชอบบอกให้เราเป็นแบบนั้น เป็นแบบนี้ เพราะว่าความฝันในประเทศนี้มันราคาแพง แทบจะไม่มีเด็กคนไหนได้รับการช่วยเหลือให้เขาได้ฝันเลย ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดขึ้นมาจากรัฐสวัสดิการที่ไม่ได้นึกถึงพวกเรา”

            “คณะที่เราเรียนเป็นคณะที่เรียนเรื่องการทำงานเพื่อสังคม ซึ่งคณะแบบนี้มีแค่ภาคอินเตอร์ ค่าเทอมต่อเทอมแพงมาก ขณะที่เราเชื่อว่ามีคนมากมายที่ควรจะได้เรียนเรื่องนี้เพื่อกลับไปพัฒนาชุมชน กลับไปพัฒนาบ้านเกิด แต่เขาไม่มีโอกาสได้เรียน ซึ่งเราเชื่อว่ารัฐสวัสดิการจะสามารถอุดรอยรั่วตรงนี้ได้ จะสามารถสร้างคนที่พัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตได้”
 
ชีวิตไม่ใช่สิ่งที่ต้องเป็น แต่คือความเป็นไปได้

            “หลายคนอาจจะบอกว่ารัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของคนจนหรือเปล่า เป็นเรื่องของผู้สูงอายุที่ต้องใช้เบี้ยยังชีพเพราะเขาทำงานไม่ไหวแล้วหรือเปล่า แต่เรารู้สึกว่ารัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่ราคาชีวิตบั้นปลายของคนแก่ ไม่ใช่ราคาการรักษาพยาบาลของคนที่ไม่มีเงินอย่างเดียว แต่มันคือราคาของความเป็นไปได้ มันคือราคาของวัยรุ่น คือราคาของคนหนุ่มสาวที่จะสร้างประเทศนี้ให้เป็นไปได้มากกว่าที่เราเคยเป็น”

            เพียงดาวยังพูดถึงค่านิยมเรื่องความกตัญญู เธอมองว่ามันคือจารีตที่รัฐใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ดูแลประชาชน แต่ผลักภาระไปให้ลูกหลาน บอกให้ประชาชนแต่งงาน มีลูก แล้วให้ดูแลเมื่อถึงวัยแก่เฒ่า ทั้งที่ชีวิตบั้นปลายของเราไม่ควรเป็นน้ำหนักบนบ่าของลูกของเรา ตรงกันข้ามต่างหาก...

            “คนหนุ่มสาวควรได้มีโอกาสตามหาชีวิตตัวเอง มีโอกาสได้ทดลองใช้ชีวิตแบบไหนที่เขาจะชอบ ชีวิตแบบไหนที่เขาจะไม่ชอบ เราควรมีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้น แต่เราไม่มีโอกาส เราต้องเป็นอย่างที่พ่อแม่อยากให้เป็น เพราะถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จใครจะเลี้ยงพ่อแม่เรา เขาก็จะไม่มีเงินใช้เมื่อเขาเกษียณ เราก็ต้องรีบทำงานเพื่อรับผิดชอบเขา แล้วชีวิตของเราอยู่ตรงไหน”

            “รัฐสวัสดิการคือการซื้ออนาคต ซื้อประเทศที่จะต้องดีขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเป็นคนดูแลพวกเราในฐานะเจ้าของประเทศนี้ พัฒนาประเทศนี้ให้เป็นของทุกคนโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ทิ้งอนาคตให้เป็นเรื่องของพวกเรา แต่มันคือเรื่องของคนทุกคนในประเทศนี้ เป็นเรื่องของประเทศที่ควรจะดีขึ้นในอนาคต”

            ใช่แล้ว, รัฐสวัสดิการจึงเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ เพศอะไร ศาสนาใด เป็นความเป็นไปได้ที่เราทุกคนจะมีโอกาสลองผิด ลองถูก และใช้ชีวิตของเราเอง

 
-->