ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

แถลงการณ์ เนื่องในวันรณรงค์เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติสากล (Zero Discrimination’s Day) 1 มีนาคม 2564

By nuttynui 1 มี.ค 2564 11:20:26
                                 
 



แถลงการณ์
เนื่องในวันรณรงค์เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติสากล (Zero Discrimination’s Day)
 1 มีนาคม 2564

 
เครือข่ายประชาชนด้านเอดส์ เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี
โดยยกเลิกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย ที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์
และเร่งออกกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล

 
          วันที่ 1 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพในสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยในปี 2564 นี้ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ว่า End The inequalities ยุติความไม่เสมอภาคเท่าเทียม

          ในปัจจุบันคาดว่ามีผู้ติดเชื้อฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 450,000 คน ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เข้าถึงบริการดูแลรักษา โดยที่สิทธิประโยชน์ในการรักษาด้วยยาต้านไวรัส มีอยู่ในทุกระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม รวมถึงสวัสดิการข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยประสิทธิภาพของการรักษาถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สุขภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวีแข็งแรงดี ไม่มีอาการป่วย สามารถประกอบอาชีพ หรือทำงานได้ เรียนหนังสือได้ มีอายุยืนยาวเช่นเดียวกับคนไม่ติดเชื้อเอชไอวี และหากกินยาต้านไวรัสเอชไอวีต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จนตรวจไม่พบเชื้อฯ ในกระแสเลือด จะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อฯ ไปให้บุคคลอื่นได้เลย หรือ U=U (Undetectable = Untransmittable)

          อย่างไรก็ตาม คนในสังคมยังกลัว กังวลในการติดต่อของเอชไอวี จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะสาเหตุของการรังเกียจหรือไม่ยอมรับผู้ติดเชื้อฯ เกิดจากการขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และการมีอคติต่อผู้ติดเชื้อฯ เช่น มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม ใช้ยาเสพติด เป็นต้น

          ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และองค์กรภาคประชาชนได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ติดเชื้อฯ ว่ามีหน่วยงานหลายแห่งทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนกีดกันโอกาสในการทำงานและเข้าเรียน อาทิเช่น กฎ ก.ตร.ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2547 และบัญชีโรคแนบท้ายระบุคุณสมบัติต้องห้ามว่า ต้องไม่เป็นโรคเอดส์และติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งการสอบคัดเลือกเข้าเรียนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งยังระบุให้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี

          เครือข่ายภาคประชาชนด้านเอดส์ ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายเยาวชนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ จึงขอเรียกร้องให้
  1. หน่วยงานรัฐทุกแห่งมาร่วมกันปฏิบัติการ End The inequalities ยุติความไม่เสมอภาคเท่าเทียม โดยการยกเลิกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย แนวปฏิบัติ หรือประกาศใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  2. ขอให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เร่งรัดดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาพิจารณาออกมาใช้เป็นกฎหมายโดยเร็วที่สุด
  3. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการบังคับใช้นโยบายการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อเอชไอวีในการสมัคร การคัดเลือก และการเรียนหรือศึกษาต่อในสถานศึกษาอย่างจริงจัง
  4. ขอให้กระทรวงแรงงานติดตาม ตรวจสอบ และกำกับให้สถานประกอบการยกเลิกนโยบายที่บังคับตรวจเลือดเอชไอวี ที่ใช้เป็นเงื่อนไขในการจ้างงาน   
          ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 4 มาตรา 27 มาตรา 28 รวมถึงเป็นไปตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ประเทศไทย พ.ศ.2560 - 2573 อันจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อหน่วยงานภาคเอกชนในการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อฯ เพราะหากหน่วยงานรัฐยังกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเองเช่นนี้ คงยากที่จะเรียกร้องให้หน่วยงานภาคเอกชนปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบาย และคงเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ตามที่กำหนดไว้
-->