ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

จดหมายเปิดผนึกถึงบริษัทเมอร์คชาร์ปแอนด์โดห์ม “ไม่มีสิทธิบัตรยาโมลนูพิราเวียร์ในไทย บริษัทเมอร์คฯ จะใช้สิทธิอะไรขวางการนำเข้า”

By nuttynui 17 มี.ค 2565 10:45:40
  • ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาที่เริ่มต้นวิจัยและพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนอเมริกัน  งานศึกษาวิจัยนี้ถูกขายสิทธิให้กับบริษัทยาข้ามชาติไปพัฒนาต่อเพื่อใช้รักษาโรคโควิด
  • เมื่อขึ้นทะเบียนยาได้ในสหรัฐฯ ได้ บริษัททำสัญญาขายยาโมลนูพิราเวียร์ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ในราคาประมาณ 20,000 บาทต่อการรักษาหนึ่งราย ในขณะที่ต้นทุนการผลิตรวมกำไรและภาษีแล้วไม่ควรเกิน 600 บาทต่อการรักษาหนึ่งราย
  • ประเทศไทยได้สั่งซื้อยานี้จากบริษัทยาข้ามชาติในราคาประมาณ 10,000 บาทต่อการรักษาหนึ่งราย ในขณะที่บริษัทยาที่อินเดียผลิตและขายราคาไม่เกิน 500 บาทต่อการรักษาหนึ่งราย 
  • ยาโมลนูพิราเวียร์ไม่มีการยื่นจดสิทธิบัตรในไทย ไทยสามารถนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญในราคาที่ถูกได้ แต่มีความพยายามข่มขู่ห้ามไม่ให้มีการนำเข้า
ทำไมต้องเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์
     ตลอดระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญวิกฤตโรคระบาดร้ายแรงจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด 19)  จวบจนถึงปัจจุบัน อัตราการติดเชื้อโควิด 19 ทั่วโลกมีมากกว่า 457 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 6 ล้านคน  ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 สะสมมากกว่า 3.1 ล้านคน และเสียชีวิตไปแล้วเกือบ 24,000 ราย  ทั้งนี้ อัตราติดเชื้อฯ ในความเป็นจริงสูงกว่านั้นมาก  แม้ว่าในประเทศไทยจัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ครบ 2 เข็มจนถึง 11 มีนาคม 2565 ให้กับประชาชนแล้ว 71.4% แต่มีประชาชนเพียง 30% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

     การรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 ลำพังการให้วัคซีนป้องกันไม่เพียงพอ วัคซีนชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ยังมีประสิทธิภาพที่จำกัดในการป้องกันการติดเชื้อ  แม้ว่าวัคซีนมีส่วนช่วยลดอัตราการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต แต่ยังมีประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยหรือฉีดวัคซีนไม่ได้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ต่างๆ เป็นจำนวนไม่น้อย  เชื้อโควิด 19 ยังกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และวัคซีนที่มีอยู่อาจมีประสิทธิภาพด้อยลงไปอีก

     ดังนั้น เมื่อร่างกายได้รับเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ  ยารักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 ในรายที่ติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรงหรือปานกลาง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะลดอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลและลดภาระของบุคลากรในโรงพยาบาลที่ไม่เพียงพอ  

     หนึ่งในยาดังกล่าวที่ทั่วโลกเริ่มใช้รักษาโรคโควิด 19 คือ ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศแนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงแต่เสี่ยงที่จะต้องนอนโรงพยาบาล และเป็นยาที่หน่วยงานสาธารณสุขในหลายประเทศแนะนำให้ใช้

ใครเป็นผู้ลงทุนวิจัยและพัฒนายาโมลนูพิราเวียร์
     ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาที่มหาวิทยาลัยแอมอรี (Emory University) วิจัยและพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 2013 – 2020 ด้วยเงินสนับสนุน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มาจากภาษีของประชาชนชาวอเมริกัน  จากงานวิจัยพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์สามารถต่อต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแอมอรีถูกขายและโอนสิทธิจนมาตกอยู่ในมือของบริษัทยาข้ามชาติที่มีชื่อว่า “เมอร์คชาร์ปแอนด์โดห์ม” (Merck Sharp & Dohme) หรือเรียกสั้นๆ ว่าบริษัทเมอร์คฯ หรือเอ็มเอสดี  บริษัทเมอร์คฯ ได้นำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อปรับใช้รักษาโรคโควิด 19 ในปี ค.ศ. 2021

     ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำสัญญาซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากบริษัทเมอร์คฯ จำนวนเกือบ 1.7 ล้านโดสในราคา 1.2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (36,000 ล้านบาท) ซึ่งคิดเฉลี่ยเป็นค่ายารักษาผู้ป่วยหนึ่งรายประมาณ 712 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,360 บาท)

ต้นทุนการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์เท่าไร
     เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ ร่วมกับโรงพยาบาลคิงส์คอลเลจในสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์รายงานการศึกษาต้นทุนการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ออกมา จากการศึกษาพบว่า ในการผลิตยาเม็ดโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มก. มีต้นทุนเม็ดละ 0.44 ดอลลาร์สหรัฐ (13 บาท) และในการรักษาผู้ป่วยหนึ่งรายเป็นเวลา 5 วัน ต้นทุนค่ายารวมอยู่ที่ 17.74 ดอลลาร์สหรัฐ (532 บาท)  ซึ่งเมื่อบวกกำไรและภาษีแล้ว ยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ควรมีราคาเกินกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (600 บาท) ต่อการรักษาผู้ป่วยหนึ่งราย

     ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าบริษัทเมอร์คฯ ได้ขายยาโมลนูพิราเวียร์ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ แพงกว่าราคาที่ควรจะเป็นถึง 35 เท่า ทั้งที่การวิจัยและพัฒนายาโมลนูพิราเวียร์ดำเนินการโดยใช้งบประมาณสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มาจากเงินภาษีของชาวอเมริกันเอง

การสร้างภาพหรือการส่งเสริมเพื่อการเข้าถึงที่แท้จริง
     ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 บริษัทเมอร์คฯ ได้ประกาศใช้มาตรการให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ (voluntary license) ผ่านองค์กรระหว่างประเทศที่มีชื่อว่า Medicine Patent Pool  ด้วยมาตรการนี้ บริษัทเมอร์คฯ อนุญาติให้บริษัทยาชื่อสามัญในอินเดีย 8 บริษัทสามารถผลิตและขายยาโมลนูพิราเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญในราคาถูกให้กับประเทศรายได้น้อยและปานกลางจำนวน 105 ประเทศ โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตร  แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศที่เผชิญภาวะวิกฤตขาดแคลนยารักษาโควิด 19

     ในขณะที่บริษัทยาชื่อสามัญหลายบริษัทในอินเดีย ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในสัญญาการให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจ สามารถผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ที่มีคุณภาพเท่ายาของบริษัทเมอร์คฯ ในราคาเพียง 12 – 14 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 400 – 460 บาท) ต่อการรักษาเท่านั้น เพราะยาดังกล่าวถูกยื่นคัดค้านว่าไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรจากหลายบริษัทและองค์กรไม่แสวงหากำไรในอินเดีย และยังไม่มีการอนุมัติให้สิทธิบัตรในอินเดีย 

ไม่มีสิทธิบัตรให้ละเมิด...จะละเมิดได้อย่างไร
     แม้ว่าประเทศไทยจะไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่จะใช้สิทธิตามมาตรการให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจของบริษัทเมอร์คฯ ได้ องค์กรภาคประชาสังคมในไทยที่ทำงานเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาได้ตรวจสอบสถานะสิทธิบัตรแล้วพบว่า บริษัทเมอร์คฯ ไม่ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรยาโมลนูพิราเวียร์ในประเทศไทย

     ต่อมา ภาคประชาสังคมยังได้มีจดหมายสอบถามกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ตอบกลับเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ว่ายังไม่มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

     นอกจากนี้ ในวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ภาคประชาสังคมยังมีจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งให้ทราบว่ายาโมลนูพิราเวียร์ไม่มีสิทธิบัตรยื่นจดในประเทศไทย ประเทศไทยสามารถนำเข้าหรือผลิตเองโดยไม่ถือว่าละเมิดสิทธิบัตร และขอให้รัฐบาลต่อรองราคากับบริษัทเมอร์คฯ เพื่อจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาไม่แพงจนเกินไปสำหรับใช้เฉพาะหน้าในระหว่างที่ยังไม่มียาชื่อสามัญในไทย 

     จากข่าวที่ปรากฏบนหน้าสื่อ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 รัฐบาลไทยอนุมัติให้มีการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากบริษัทเมอร์คฯ จำนวน 2 ล้านเม็ดด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งคิดเฉลี่ยเป็นราคา 10,000 บาทต่อการรักษาหนึ่งราย  ในขณะที่งานศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดประเมินว่าราคาไม่ควรเกิน 600 บาทต่อการรักษาหนึ่งราย และยาที่ผลิตและขายโดยบริษัทยาในอินเดียมีราคาไม่เกิน 500 บาทต่อการรักษาหนึ่งราย  จนถึงปัจจุบัน บริษัทเมอร์คฯ ยังไม่ได้จัดส่งยาโมลนูพิราเวียร์ที่สั่งซื้อไปแล้วให้ไทย

ค้ากำไรบนชีวิตคนโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม
     จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นว่าบริษัทเมอร์คฯ อาศัยภาวะวิกฤตสุขภาพของโลกจากโควิด 19 กอบโกยและตักตวงกำไรมหาศาล ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากต้องป่วยหนักหรือล้มตาย เพราะการตั้งราคายาที่แพงอย่างไร้มนุษยธรรม บริษัทเมอร์คฯ ให้ข้อมูลกับสื่อต่างประเทศว่ามีรายได้จากการขายยาโมลนูพิราเวียร์ในไตรมาสสุดท้ายของปี ค.ศ. 2021 เป็นจำนวน 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าจะมียอดขายในปี ค.ศ. 2022 มากถึง 5,000 – 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

      เท่านั้นยังไม่พอ ภาคประชาสังคมไทยได้รับทราบข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 มีผู้อ้างว่าทำงานให้กับบริษัทเมอร์คฯ โทรศัพท์ถึงโรงงานผลิตยาในไทย และข่มขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับโรงงานนั้น ถ้าผลิตหรือนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญเข้ามาในไทย เพราะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค ทั้งนี้โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าละเมิดอย่างไร

ข้อเรียกร้อง
     องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยที่ทำงานเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาจึงมีจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ เพื่อ
  1. สอบถามบริษัทเมอร์คชาร์ปแอนด์โดห์มว่าได้มอบหมายให้ผู้ใดโทรศัพท์ติดต่อและข่มขู่โรงงานผลิตยาต่างๆ ในไทยหรือไม่
  2. เรียกร้องให้บริษัทเปิดเผยหมายเลขคำขอรับสิทธิบัตรทั้งหมดที่เกี่ยวกับยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งได้ยื่นไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงหมายเลขคำขอฯ ในต่างประเทศที่บริษัทจะยื่นในประเทศไทย ให้สาธารณะรับทราบโดยเร็ว
     พวกเราเชื่อว่าโรงงานผลิตยาในไทยไม่มีเจตนาที่จะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ ที่เกี่ยวกับยาโมลนูพิราเวียร์ และได้ปฏิบัติตามกฎหมายสากลและกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา  โรงงานผลิตยาที่มีศักยภาพและรับผิดชอบต่อสังคมในการสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศและทำให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็น โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตโควิด 19 จำเป็นต้องผลิตยาหรือนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ที่มีคุณภาพและราคาสมเหตุผลมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยไม่ใช่จำต้องพึ่งพายาของบริษัทเมอร์คฯ ที่ราคาแพงจนผู้ป่วยเข้าไม่ถึง หรือระบบหลักประกันสุขภาพจัดหามาให้ไม่ได้หรือไม่เพียงพอ

     ลำพังแค่การทำธุรกิจแสวงหากำไรมหาศาลโดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตผู้คนในยามมหัตภัยสุขภาพเช่นนี้ ก็เป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมมากพออยู่แล้ว  การข่มขู่คุกคามทางกฎหมายที่ปราศจากหลักฐานและเลื่อนลอย เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการเข้าถึงยาช่วยชีวิตคนจำนวนมาก ยิ่งเป็นการตอกย้ำความไร้มนุษยธรรมของผู้กระทำ
 
16 มีนาคม 2565
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ภาคประชาชน (FTA Watch)
ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)
ชมรมเภสัชชนบท
กลุ่มศึกษาปัญหายา
 
-->