ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

‘เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ’ ย้ำต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายใหม่ กระจายสวัสดิการให้เป็นธรรม

By nuttynui 9 มิ.ย 2565 11:43:49


9 มิถุนายน 2565 ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการยืนยันแสดงเจตนารมณ์ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ผลักดันบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้เป็นหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงวัยทุกคนบนแผ่นดินไทย ด้วยหลักความเป็นธรรม เสมอภาค

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และทางเครือข่ายฯ ทำหนังสือยื่นต่อประธานรัฐสภาให้นำรายงานฉบับดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินการต่ออย่างเร่งด่วนแล้วนั้น และเพื่อเป็นการตอกย้ำความเร่งด่วนของการดำเนินการ ทางเครือข่ายฯ จึงมาพบตัวแทนพรรคการเมือง และขอให้เร่งติดตามการดำเนินการของรัฐบาลต่อไป

นายนิมิตร์ กล่าวด้วยว่า เครือข่ายประชาชนฯ ติดตามการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2566 ในการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองหลายพรรคอภิปรายถึงแนวทางการจัดสรรงบประมาณใหม่ ที่เน้นลดขนาดงบประมาณด้านโครงสร้างในระบบราชการ และอภิปรายชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงของงบประมาณในส่วนสวัสดิการ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ และสวัสดิการของประชาชน ซึ่งชัดเจนว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบ

“งบสวัสดิการบำนาญข้าราชการมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจุบันใช้ถึง 300,000 กว่าล้านบาท และอนาคตจะขึ้นไปถึง 700,000 – 800,000 ล้านบาท โดยครอบคลุมข้าราชการประมาณกว่าหนึ่งล้านคน ในขณะที่ เบี้ยยังชีพ ที่เป็นสวัสดิการที่พอเทียบได้เป็นบำนาญของประชาชนเกือบ 12 ล้านคนกลับใช้จ่ายอยู่ที่ระดับ 70,000 – 80,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้ว่า ประชาชนได้รับเพียงเศษเงิน ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทั้ง ๆ ที่งบเหล่านี้ก็มาจากภาษีของประชาชนทุกคน” ตัวแทนเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวและว่า “เราต้องมาช่วยกันคิดว่า จะทำให้ทุกคนได้รับความเท่าเทียมด้านสวัสดิการร่วมกันอย่างไร ซึ่งทางเครือข่ายฯ ขอยืนยันว่า เราไม่ได้ต้องการให้ตัดงบสวัสดิการ หรือบำนาญของข้าราชการที่ได้อยู่แต่เดิม ส่วนข้าราชการใหม่ ต้องมีระบบการจัดการใหม่ เช่น ลดกำลังคนที่ไม่จำเป็นของทบวง กระทรวง กรม ต่าง ๆ หรือการทำให้เป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มีส่วนสมทบเช่นเดียวกับระบบประกันสังคม เป็นต้น”

ด้านนางหนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายฯ แสดงความเห็นว่า การผลักดันให้เกิดบำนาญถ้วนหน้าเป็นการสร้างความเท่าเทียมที่เป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว รัฐบาลและข้าราชการต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำให้เป็นจริงได้แบบไหน รัฐจะหารายได้เพิ่มอย่างไร จะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแบบไหนมากกว่าที่จะมากังวล กลัวว่าจะมีการตัดงบบำนาญ หรือสวัสดิการของตัวเองลงแต่เพียงอย่างเดียว หากรัฐบาลหรือข้าราชการไม่ทำเพื่อประชาชน จะมาเป็นรัฐบาล หรือรับราชการทำไม

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ขอเป็นกำลังใจให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน ทุกพรรค ที่พยายามให้มีการทบทวนการใช้งบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนทุกคน

 
-->